HomeEditor's Pickอาเซียนเล็งปั้นเพิ่ม 10 "ยูนิคอร์น"

อาเซียนเล็งปั้นเพิ่ม 10 “ยูนิคอร์น”

ตลาดการลงทุนที่มีความน่าดึงดูดใจของอาเซียน ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น นำไปสู่การก่อกำเนิดระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพทั่วภูมิภาค

นับถึงปี 2561 อาเซียนมีสตาร์ทอัพที่ขึ้นแท่น “ยูนิคอร์น” หรือมีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จำนวน 10 แห่งแล้ว และในช่วง 5 ปีข้างหน้า น่าจะมีสตาร์ทอัพอีกอย่างน้อย 10 แห่ง ทะยานสู่ความเป็น “ยูนิคอร์น”

Grab ธุรกิจเรียกรถชื่อดัง เป็นหนึ่งในยูนิคอร์นระดับบิ๊ก หลังจากเข้าซื้อธุรกิจของคู่แข่ง คือ Uber ไปเมื่อปี 2561 กระนั้น Grab ก็ยังต้องเจอการแข่งขันจาก Go-Jek แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งได้สถานภาพยูนิคอร์นเมื่อปี 2559

ในส่วนของเวียดนามก็มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรก คือ VNG Corporation ซึ่งเชี่ยวชาญเกมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ

- Advertisement -

เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่มี Revolution Precrafted ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผงาดขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นรายแรกของประเทศ

ยูนิคอร์นจากสิงคโปร์ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะยังมี Sea ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเกม การชำระเงิน และอีคอมเมิร์ซ รวมถึง Razer ที่เชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์สำหรับเกม ส่วน Lazada อีคอมเมิร์ซชื่อดัง ก็ไม่พลาดอันดับยูนิคอร์น

ในฟากของอินโดนีเซีย นอกจาก Go-Jek  แล้วยังมี Bukalapak ซึ่งทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ Traveloka กับ Tokopedia

เมื่อไล่เรียงดูบรรดายูนิคอร์นต่างๆ แล้ว จะพบว่าธุรกิจที่คึกคักของอาเซียนเป็นช่องทางอย่างดีสำหรับสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพฟินเทค อีคอมเมิร์ซ หรือธุรกิจที่ให้บริการ on-demand ท่ามกลางการคาดหมายว่ารายได้จากอีคอมเมิร์ซน่าจะผ่านหลัก 25,000 ล้านดอลลาร์ภายในปีหน้า

พัฒนาการอันรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เจ้าของกิจการจำนวนมากเล็งสร้างแบรนด์และธุรกิจในภูมิภาคนี้ รายงานของ Bain & Company ระบุว่านักลงทุน 90% เชื่อว่าตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดของปีนี้รองจากสิงคโปร์ คืออินโดนีเซียกับเวียดนาม

แม้อาเซียนจะมีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบของแต่ละประเทศ แต่เขตการค้าเสรีอาเซียนช่วยหลอมรวมเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทั้งยังดึงดูดธุรกิจและนักลงทุน Le Luong Minh อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้ว่าแม้ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายและแตกต่าง แต่ชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอาเซียน มีรูปแบบอุปสงค์และการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน

กว่าจะขึ้นสู่สถานภาพ “ยูนิคอร์น” ได้ บรรดาสตาร์ทอัพในเอเชียอาคเนย์ก็เริ่มต้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่พอตั้งหลักได้ดีแล้วก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อขยายธุรกิจจนมีมูลค่าตลาดรวมกัน 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือเป็นรองเพียงจีนกับอินเดียในย่านเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น

กว่าจะมาถึงจุดนี้ ยูนิคอร์นแห่งเอเชียอาคเนย์ อย่าง Grab, Go-Jek และ Traveloka ได้เข้าผนวกกิจการและถือครองสตาร์ทอัพรายเล็กๆ มาจำนวนมาก คิดเป็นเกือบ 40% ของการเข้าถือครองกิจการทั้งหมดในภูมิภาค ล่าสุด Tokopedia ซึ่งเป็นยูนิคอร์นอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินโดนีเซีย กำลังเจรจาเข้าซื้อ Sayurbox ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้แนวคิดของการนำวัตถุดิบประกอบอาหารที่มีความสดใหม่ส่งตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค

ในอนาคตอันใกล้นี้ การเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ผสานกับแนวคิดริเริ่มของภาครัฐ และประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้บรรดาสตาร์ทอัพขึ้นแท่น “ยูนิคอร์น” ได้มากรายขึ้นในอาเซียน

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News