ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2562วันที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยมีมติคงดอกเบี้ย และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง
คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2562 และ ร้อยละ 3.7 ในปี 2563 โดยต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 3.8 และ 3.9 ตามลำดับ
สาหรับโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานจะมาจาก
(1) การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกชะลอลงกว่าที่คาดและส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย
(2) การขยายตัวของ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น ผลกระทบในกรณีที่เกิด no-deal Brexit ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
(3) การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณและ การดำเนินนโยบายภาครัฐ และ
(4) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจชะลอลงมากกว่าคาด
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานจาก (1) เศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวมากกว่าคาดหากมี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ความไม่แน่นอนต่างๆปรับลดลง และ (2) อุปสงค์ในประเทศ ที่อาจมากกว่าคาดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการ PPP และการลงทุนภาคเอกชนที่ อาจเกิดเร็วขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มเติม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมาย โดยราคาอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม
เงินเฟ้อมีโอกาสต่ำกว่าประมาณการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันจากราคาพลังงานยังใกล้เคียงเดิม โดยการปรับลดการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ามัน (OPEC) และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น ชดเชยปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก
สำหรับราคาอาหารสดมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาเนื้อหมูที่ปัญหาอุปทานส่วนเกินคลี่คลายลง และอุปสงค์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาโรคระบาดในหมู
คณะกรรมการฯ จึงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 และ ปี 2563 เท่ากันที่ร้อยละ 1.0 ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอุปสงค์ในประเทศที่ร้อยละ 0.7 และ 0.9 ตามลำดับ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ปรับลดลงเล็กน้อยตามตามอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง
สำหรับโอกาสที่ประมาณการอัตรา เงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะต่ำกว่ากรณีฐานยังมีอยู่ สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจ
ชี้บาทแข็งเกินพื้นฐาน เตรียมมาตรการดูแล
ด้านตลาดการเงินในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว (2) การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และ (3) พัฒนาการของ Brexit ที่ยืดเยื้อและไม่แน่นอน ซึ่งอาจกดดันให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทที่ค่อนข้างเร็วอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจะเป็นผลเสียต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป เนื่องจากในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว ชะลอลง
ข้อมูลเศรษฐกิจจากหลายภาคส่วนสะท้อนว่าเศรษฐกิจอาจอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่ามากขึ้น โดยตลาดแรงงานมีสัญญาณความเปราะบางชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการจ้างงาน และให้เตรียมมาตรการต่าง ๆ ดูแลการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้น ๆ เพื่อออกใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งดาเนินการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
อ่านรายละเอียด รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2562