InnoSpace รับ 3 ผู้ลงทุนใหม่ เพิ่มทุนเป็น 735 ล้านบาท ตั้ง 3 กองทุนลงสตาร์ตอัพ Deep Tech ปั้นยูนิคอร์น
บอร์ดบริหารอินโนสเปซ ประเทศไทย (InnoSpace Thailand) มีมติเห็นชอบรับผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาอีก 3 ราย เพิ่มทุนจาก 515 ล้านบาทเป็น 735 ล้านบาท ประกาศแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน แบ่งการลงทุนออกเป็น 3 กอง
-Innospace ทุ่ม 50 ล้านบาท ช่วยสตาร์ตอัพ
เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ Business Today ว่า มีผู้ลงทุนใหม่เพิ่ม 3 ราย คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงทุน 70 ล้านบาท ธนาคารออมสิน ลงทุน 50 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการและอยู่ในกระบวนการที่จะเข้ามาใส่ทุนเข้ามา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงทุน 100 ล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ แต่รัฐวิสาหกิจจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงความเห็นชอบจากทางภาครัฐ
หลังได้ผู้ลงทุนเพิ่มอีก 3 ราย อินโนสเปซจะมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 735 ล้านบาท (เพิ่มจากเดิม 515 ล้านบาท) ที่จะใช้ส่งเสริมลงทุนในสตาร์ตอัพ รวมถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงให้สตาร์ตอัพมีโอกาส พบกับภาคอุตสาหกรรม พันธมิตร ที่เป็นลูกค้าต่างประเทศ และสตาร์ตอัพต่างประเทศ ด้วย
“งานหลักของเรา คือการลงทุนในสตาร์ตอัพเป็นเรื่องสำคัญ อีกส่วนคือการสร้างระบบนิเวศในประเทศไทยให้เข้มแข็ง”
อินโนสเปซ มีแนวทางการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 กอง ได้แก่
1.กอง Big Win มีเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน Deep Tech หรือ เทคโนโลยีที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศที่สำคัญ เช่น ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งสตาร์ตอัพ Deep Tech ยังมีน้อย เพราะใช้เวลาพัฒนานาน และความเสี่ยงเยอะ เอกชนจะไม่ค่อยเข้ามาลงทุน InnoSpace จะเข้ามาช่วยปิดในช่องว่าง
2.กอง Quick Win มีวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ใช้สำหรับสนับสนุนสตาร์ตอัพที่มีความพร้อมจะเติบโตและก้าวหน้า มีตลาดมารองรับ เพื่อเป็นยูนิคอร์นให้กับประเทศไทย
และ 3.กอง InnoSpace Bridge Fund จัดตั้งขึ้นมาในช่วงภาวะวิกฤติ มีวงเงินตั้งต้น 50 ล้านบาท เพื่อช่วยสตาร์ตอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มีเป้าหมายเข้าไปช่วยสตาร์ตอัพเรื่องกระแสเงินสด โดยให้ความสำคัญกับสตาร์ตอัพที่เข้ามาแก้สถานการณ์โควิด-19 ได้ หรือมีนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยสังคมในช่วงนี้
“เราเห็นบทบาทสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยในวิกฤติโควิด19 เพราะเขาถนัดเรื่องการแก้ไขปัญหา นำนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาได้”
อินโนสเปซ (InnoSpace) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพราะเห็นความสำคัญของสตาร์ตอัพที่จะเข้ามาเป็นกำลังพลของเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เป็นฐานหลักเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ ใหม่ ๆ
ในต่างประเทศสตาร์ตอัพเริ่มจากองค์กรเล็ก ๆ ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทที่ใหญ่ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก
เทวินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนที่มีความพร้อม มีศักยภาพ แต่การสนับสนุนสตาร์ตอัพยังกระจัดกระจายกันอยู่ ทำให้สตาร์ตอัพมีปัญหาเรื่องการขอสนับสนุนเงินทุน เทคโนโลยี การตลาด และการบริหารจัดการ
อินโนสเปซเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่ต้องการสนับสนุนสตาร์ตอัพ ทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และภาคงานวิจัย เข้ามาช่วยกัน
“เราจัดตั้งมาประมาณปีกว่า แต่เพิ่งลงตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระดมทุนโดยภาคเอกชน 11 รายในช่วงเริ่มต้น มีทุนจดทะเบียนประมาณ 515 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน เข้ามาช่วยกัน”

เทวินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ผู้บริหารเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการลงทุน และเรื่องสำนักงานให้เป็นรูปเป็นร่าง
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม มีดังนี้
-ปตท. ลงทุน 100 ล้านบาท
-BDMS และ Bangkok Airways ลงทุน 70 ล้านบาท
-ธนาคารกรุงเทพ ลงทุน 50 ล้านบาท
-ธนาคารกรุงไทย ลงทุน 50 ล้านบาท
-ธนาคารกสิกรไทย ลงทุน 50 ล้านบาท
-ธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุน 50 ล้านบาท
-กลุ่ม CP และ ทรู ลงทุน 50 ล้านบาท
-ไทยเบฟเวอเรจ ลงทุน 30 ล้านบาท
-Thai Union ลงทุน 30 ล้านบาท
-สหพัฒน์ฯ ลงทุน 30 ล้านบาท
-SME Bank ลงทุน 5 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนทั้งหมด 735 ล้านบาท
แผนการลงทุนของ InnoSpace:
โดยนำเงินลงทุนมาใช้ส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ตอัพเป็นหลัก อีกส่วนคือการสร้างระบบนิเวศ รวมถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงสตาร์ตอัพให้มีโอกาสพบกับภาคอุตสาหกรรม พันธมิตร ที่เป็นลูกค้าต่างประเทศ และสตาร์ตอัพต่างประเทศด้วย
อินโนสเปซ มีแนวทางการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 กอง มีงบลงทุนอยู่ที่ 550 ล้านบาท ดังนี้
Big Win มีเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน Deep Tech หรือ เทคโนโลยีที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศที่สำคัญ เช่น ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งสตาร์ตอัพ Deep Tech ยังมีน้อย เพราะใช้เวลาพัฒนานาน และความเสี่ยงเยอะ เอกชนจะไม่ค่อยเข้ามาลงทุน InnoSpace จะเข้ามาช่วยปิดในช่องว่าง
Quick Win มีวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ใช้สำหรับสนับสนุนสตาร์ตอัพที่มีความพร้อมจะเติบโตและก้าวหน้า มีตลาดมารองรับ เพื่อเป็นยูนิคอร์นให้กับประเทศไทย
Innospace Bridge Fund จัดตั้งขึ้นมาในช่วงภาวะวิกฤติ มีวงเงินตั้งต้น 50 ล้านบาท เพื่อช่วยสตาร์ตอัพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มีเป้าหมายเข้าไปช่วยสตาร์ตอัพเรื่องกระแสเงินสด โดยให้ความสำคัญกับสตาร์ตอัพที่เข้ามาแก้สถานการณ์โควิด-19 ได้ หรือมีนวัตกรรมที่เข้าไปช่วยสังคมในช่วงนี้
เทวินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากเงินลงทุนของอินโนสเปซแล้ว พันธมิตรของเรามีวงเงินลงทุนที่จะช่วยสตาร์ตอัพประมาณ 6,000 บาท มาจากตลาดหลักทรัพย์ depa NIA ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ยังไม่รวมกับ CVC กองใหญ่ที่ตั้งงบประมาณไว้ลงทุนกับสตาร์ตอัพที่สอดคล้องกับธุรกิจของแต่ละองค์กร
อินโนสเปซพิจารณาลงทุนในสตาร์ตอัพอยู่ มีความเป็นไปได้ประมาณ 5-6 ราย โดยอยู่ระหว่างเงินกองที่ 1 และ 2 ซึ่ง น่าจะเรียบร้อยหลังจากที่ผ่านช่วงวิกฤติรอบนี้ไปก่อน ขณะนี้ อินโนสเปซ อยู่ในกระบวนการสรรหาซีอีโอ ซึ่งจะประกาศหาเร็ว ๆ นี้
“เราอยากได้คนที่เข้าใจระบบนิเวศของนวัตกรรมที่ดีพอ เข้าใจวงจรของสตาร์ตอัพ ว่ามีกระบวนการอะไรบ้างกว่าจะประสบความสำเร็จ อีกส่วนหนึ่งคือต้องมีจิตสาธารณะ ซึ่งค่าตอบแทนอาจจะไม่สูงมาก เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร”
เงิน 2 กองแรก 500 ล้าน(Big Win และ Quick Win) อินโนสเปซ วางแผนใช้ใน 5 ปี ขณะเดียวกันถ้าสามารถกระตุ้นความตื่นตัว หรือค้นพบสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพมาก อินโนสเปซมีแผนระยะยาว โดยจะระดมทุนในรูปแบบกองทุน ทั้งนี้ต้องได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนในกองทุนก่อน
ส่วนอีก 200 ล้านบาท จะใช้สำหรับสร้างระบบนิเวศ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สตาร์ตอัพได้เข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิด เชิญภาคธุรกิจ มาตั้งโจทย์เป็น Hackathon ทางด้านธุรกิจ และอุตสาหกรรม ให้สตาร์ตอัพเข้ามาหาวิธีแก้ รวมถึงประสานงานจากพันธมิตรต่างประเทศ พาสตาร์ตอัพจากไทยไปนำเสนอในต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ไปหานักลงทุน พาร์ทเนอร์ และตลาดในต่างประเทศ
เข้าไปเสริมศักยภาพสตาร์ตอัพ Early Stage ที่มีภาครัฐอย่าง depa หรือ NIA สนุบสนุนอยู่ ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อให้สตาร์ตอัพใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
“อินโนสเปซจะนำผลตอบแทนที่ได้จากสตาร์ตอัพที่เข้าไปลงทุนมาขยายการลงทุนต่อไป ผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดได้เข้าใจตั้งแต่ต้น ว่าการใส่ทุนเข้ามาตั้งแต่ต้นไม่ได้หวังผลกำไร ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือเงินปันผล”
เป้าหมายสร้างยูนิคอร์น
ต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล รักษาการ CEO บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การลงทุนใน Big Win อินโนสเปซดูไว้ประมาณ 10 สตาร์ตอัพ ที่อยู่ใน Early Stage ส่วน Quick Win น่าจะได้ 1 หรือ 2 สตาร์ตอัพ เพราะจะเน้นลงกับสตาร์ตอัพที่มีความพร้อมจริง ๆ ที่อยู่ในระดับ Series A ขึ้นไป
“เราก็มองไว้ว่าใน 5 ปี การลงทุนใน Quick Win จะสร้างยูนิคอร์นของไทยได้ โดยเราจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการให้สตาร์ตอัพสามารถ Scale up ขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่”
อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง