HomeCOVID-19RISE ชูแนวคิด Innovation Continuity Plan ช่วยธุรกิจสู้วิกฤติโควิด-19

RISE ชูแนวคิด Innovation Continuity Plan ช่วยธุรกิจสู้วิกฤติโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ RISE ต้องกลับมารีเซ็ตตัวเอง ปรับรูปแบบองค์กรมาทำประโยชน์ให้กับสังคม นำสิ่งที่ RISE โฟกัส มาช่วยให้องค์กรอื่น ๆ สามารถสร้างนวัตกรรมได้ในช่วงวิกฤติ นอกเหนือจากการทำ แผนมือเหตุการณ์ต่าง ๆ (Business Continuity Plan) ที่ตอบโจทย์แค่ช่วงวิกฤติ แต่หลังจากนั้นธุรกิจจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างไร

-RISE ระดมทุนกว่า 260 ล้านบาท เร่งดันนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาค

นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง RISE กล่าวว่า RISE เชื่อเรื่องการลงมือทำ จึงทำเรื่อง Innovation Continuity Plan (ICP) ขึ้นมา คือการทำให้นวัตกรรมเดินต่อไปข้างหน้าได้ ให้คนที่มีปัญหานำไปใช้ได้ฟรี ให้ประเทศไทยฟื้นกลับมาได้เร็วที่สุด เชื่อว่าคนที่รอดจะมีโอกาสได้กลับไปช่วยคนอื่นต่อ

- Advertisement -

ICP พัฒนาเป็นโครงร่างแบบ Canvas เพราะสตาร์ตอัพ หรือ SMEs เขาคุ้นเคย โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ

What ต้องทำอะไรบ้าง ที่เป็นโจทย์ของธุรกิจ
How จะทำอย่างไร ต้องมีอะไรบ้าง กลยุทธ์เป็นอย่างไร
Who ใครเป็นผู้ทำ ต้องสื่อสารกับใครบ้าง
Value สิ่งที่จะวัดผลว่าทำไปแล้วสำเร็จหรือไม่ วิธีวัดผลทำอย่างไร

“เราพยายามออกแบบให้เข้าใจง่าย ซึ่งเราไม่ได้คิดว่าจะมีเฉพาะโควิด-19 แต่อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอื่น ๆ ในอนาคต”

นพ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างธุรกิจที่ได้ผลกระทบ เช่น ธุรกิจแฟชั่น ที่ปกติจะขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ แต่วิกฤติทำให้ขายหน้าร้านไม่ได้ ด้านออนไลน์ยอดขายก็ลดลง ซึ่งเกิดจากการตัดงบฟุ่มเฟือยออกของคนทั่วไป แต่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างไร เพราะต้องขายได้ ต้องมีกระแสเงินสด

เริ่มจากการปรับวิธีคิด ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าหรือบริการตรงใจกับลูกค้าในปัจจุบัน เพราะสินค้าปัจจุบันไม่สามารถขายหน้าร้านได้ แต่จะทำอย่างไรให้ขายออนไลน์ได้ดีขึ้น และขายอะไรดี จำเป็นหรือไม่ที่จะขายเสื้อผ้าอย่างเดียว

พิจารณาว่าลูกค้าปัจจุบันต้องการแค่เสื้อผ้าอย่างเดียว หรือต้องการสินค้าอย่างอื่นด้วย เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบ Growth Mindset

“สามารถปรับยุทธศาสตร์ของธุรกิจ เช่น นำของจากแม่ค้าในตลาดมาช่วยขาย ซึ่งมีสตาร์ตอัพที่เข้ามาทำแบบนี้เหมือนกัน คือเปลี่ยนจากออนไลน์มาช่วยคนขายของ ซึ่งได้ช่วยทั้งคนค้าขาย และช่วยธุรกิจตัวเองด้วย”

เลือกเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ปิดการขายได้ และพิจารณาว่าการขายออนไลน์จะต้องมีอะไรเสริมบ้าง เช่น

1.Collaboration ความร่วมมือ
2.Channel ใช้ช่องทางของตัวเองที่มี หรือให้อินฟลูเอนเซอร์เข้ามาช่วย
3.Resource คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การอบรมทีมงานให้ขายออนไลน์เป็น หรือเตรียมตอบลูกค้าอย่างไร รวมถึงจะส่งสินค้าไปถึงผู้บริโภคอย่างไร

สุดท้ายเป็นเรื่องของการวัดผล จะวัดผลอย่างไร รายได้เพิ่มเท่าไหร่ ธุรกิจจะรอดหรือไม่ เช่น ถ้ามีคนมาร่วมมือด้วยเยอะก็จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น จำนวนผลตอบรับจากลูกค้ามีเยอะหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการของการวัดผล โดยใช้หลักการแบบ SMART (Specific, Measurable Achievable, Realistic, Timely)

“นอกจากนี้จะต้องดูว่าควรวัดผลทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน เพื่อที่จะได้ดูผลตอบรับและนำมาปรับโมเดลธุรกิจ”

ICP สามารถปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ?

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ICP ออกแบบมาให้ใช้ได้กับทุกธุรกิจ ซึ่งพยายามใช้ช่องทางที่มีอยู่แล้ว และยินดีเป็นส่วนกลาง เมื่อผู้ใช้ติดปัญหา สามารถสอบถามได้เพื่อแบ่งปันความคิด

สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่ SMEs หรือ สตาร์ตอัพ แต่สิ่งที่ RISE ต้องการ คือ อยากจะให้โครงร่าง ICP ส่งไปถึงภาครัฐ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการช่วยเหลือประชาชน

RISE มีกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นธุรกิจ SMEs ที่อยากให้นำ ICP ไปใช้ เพราะเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งถ้าธุรกิจรอดไปได้ก็จะสามารถใช้แบบแผนมาช่วยคนอื่นต่อได้

“ระบบที่สร้างขึ้นมาเราทำให้ใช้งานง่าย ผู้ใช้สามารถทำได้เอง เพียงแค่กรอกข้อมูลในเทมเพลต แต่ถ้าทดลองแล้วไม่ได้เราก็จะเข้าไปช่วย”

ทดลองกับตัวเองก่อนปล่อยสู่สาธารณะ

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า RISE ทดลองระบบ ICP กับตัวเองก่อน ซึ่งเห็นผลดี เพราะ RISE เป็นธุรกิจเรื่องการจัดอบรม หมายความว่าคนจะต้องเดินทางมารวมตัวกัน จึงได้รับผลกระทบ

“เราเชื่อว่าคนจะต้องลงมือทำถึงจะเปลี่ยนแนวความคิดได้ เหมือนกับสตาร์ตอัพที่ปรับตัวตลอดเวลา”

แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 คนจะมารวมตัวกันอบรมไม่ได้ ฝั่งธุรกิจ RISE University จึงได้รับผลกระทบมาก จึงนำวิธีที่คิดมาเปลี่ยนแปลง RISE University ให้จัดอบรมออนไลน์แต่มอบประสบการณ์เดียวกันออฟไลน์ได้ เพราะปกติควรจะต้องอบรมกัน 8 ชั่วโมง แต่ถ้าอบรมออนไลน์ 8 ชั่วโมง คนอาจจะเบื่อ

ยุทธศาสตร์ของ RISE คือ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ปรับการอบรมโดยแบ่งคลาสไม่ให้ใช้เวลาเกิน 1.30 ชั่วโมง ใช้แพลตฟอร์มช่วยแบ่งกลุ่มผู้อบรม ทำให้ครูที่สอนสามารถไปหาทีละกลุ่มได้ และมีโค้ชเข้าไปช่วยประกบ

“คลาส 50 คน เราใช้โค้ชออนไลน์ 10 คน ทำให้ประสบการณ์ของผู้เข้าอบรมออนไลน์มีความคล้ายกับการอบรมออฟไลน์”

ด้าน Design thinking ที่ต้องมีการตัดกระดาษ RISE ทำเป็นกล่องเครื่องมือและส่งไปให้ผู้เข้าอบรมที่บ้านล่วงหน้า เพื่อให้ผู้เข้าอบรมลงมือทำที่บ้านได้

“เราเตรียมจะปล่อยอีก 6 คลาสใหม่ เพื่อให้คนสามารถเข้ามาเรียนได้เลย เป็นการแก้วิกฤติทั้งตัวเราเองและช่วยให้คนสอนมีรายได้”

นพ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า RISE เริ่มทำ ICP หลังจากรัฐบาลประกาศให้คนทำงานที่บ้าน แต่ได้เตรียมการเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งมีหลายขั้นตอน ในระยะเวลา 1 เดือน เริ่มต้นจากการทดสอบที่ตัวเอง ทดสอบกับเครือข่ายของ RISE ก่อนจะทดสอบกับประชาชนทั่วไป สุดท้ายคือไปทดสอบกับลูกค้า แบ่งช่วงทดสอบเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในแต่ละช่วง

เชื่อ ICP พัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้หลังจบโควิด-19

RISE เชื่อว่าหลังจบวิกฤติโควิด-19 คนที่นำโครงร่างไปใช้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาธุรกิจแล้ว อาจจะพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้เลย เช่น การประชุมกลุ่มที่แต่ละคนอยู่คนละประเทศ สามารถนำความรู้ในช่วงวิกฤติเข้าไปช่วยได้ ซึ่งก็อาจจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ได้

“สิ่งสำคัญคือธุรกิจจะต้องดูทรัพยากรของตัวเองว่าสามารถปรับให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้หรือไม่ การแก้ปัญหาอาจจะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ แต่อาจจะไม่แข็งแรง เราเชื่อว่าประเทศต้องการสิ่งที่มากกว่านั้น คือมีโอกาสได้แข็งแรงมากขึ้น และหน้าที่ของเราคือการเข้าไปช่วยคนสร้างนวัตกรรมใหม่”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News