HomeBusinessStartupบริการ Ride-hailing ในไทยโตก้าวกระโดด ต่อจิ๊กซอว์สมาร์ท​ซิตี้

บริการ Ride-hailing ในไทยโตก้าวกระโดด ต่อจิ๊กซอว์สมาร์ท​ซิตี้

อุตสาหกรรม Ride-hailing ในไทยมีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตและความต้องการของคนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจำนวนมาก Ride-hailing จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่ต้องการอาชีพเสริมอีกด้วย

Ride-hailing ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 จาก Uber เริ่มให้บริการด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว ส่วน Grab และ EasyTaxi เริ่มให้บริการจากแท็กซี่เพียงอย่างเดียว ก่อนที่ Grab จะควบรวมกิจการกับ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2561 นอกจากนี้ยังมี LINEMAN ที่ให้บริการเรียกแท็กซี่จากเดิมที่ส่งอาหารและพัสดุ และ GET ผู้เล่นที่เข้ามาทำตลาดในไทยรายล่าสุด

-“แกร็บ” เผยใช้บริการ 120 ล้านครั้ง! จัดแคมเปญ ‘11.11’ ดึง 400 ร้านอาหารดังเข้าร่วม
-GET! ชี้ พฤติกรรมคนไทย ดันบริการ “สั่งอาหารส่งผ่านแอปฯ” โตต่อเนื่อง

- Advertisement -

ข้อมูลกรมขนส่งทางบก ประเทศไทย พบว่า ในปี 2561 มีปัญหาผู้โดยสารร้องเรียนผู้ขับขี่รถแท็กซี่มากถึง 48,223 เรื่อง โดย 5 อันดับสูงสุดของปัญหาร้องเรียนในบริการแท็กซี่ คือ ปฏิเสธผู้โดยสาร, กิริยาไม่สุภาพ, ขับรถหวาดเสียว, โกงค่าโดยสาร และ ไม่ส่งตามที่ตกลงกัน ซึ่ง Ride-hailing ที่มีทั้งความปลอดภัย, ความโปร่งใสเรื่องราคา และมีบริการที่ดี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนเมืองในขณะที่ระบบรถขนส่งสาธารณะกำลังพัฒนาตัวเอง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาบริการในระบบขนส่งที่มีอยู่ได้อีกด้วย

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET กล่าวว่า GET ตั้งเป้าเข้าถึงคนกรุงเทพฯ 1 ล้านคน ภายในปี 2019 เพื่อช่วยให้ชีวิตคนในเมืองง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดถึง 1.7 ครั้งแล้ว ยังไม่นับรวมร้านค้าอีก 2 หมื่นร้าน และคนขับอีกกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายเร็วกว่าที่คิด ต่อจากนี้จะรุกพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ แต่ยังต้องใช้เวลาศึกษาให้ดีก่อน เพราะอยากจะทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ที่เราเข้าไปเป็นอย่างดีจริง ๆ

สำหรับบริการ GETWIN และบริการ GET DELIVERY เป็นไปได้ด้วยดี โดยยังคงมุ่งเน้นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขับ โดยเฉพาะคนขับที่เป็นพี่วิน เพื่อช่วยให้เขามีรายได้ที่มากขึ้น มีลูกค้าที่มากขึ้น และมีงานที่หลากหลายขึ้น ผ่านการขับกับแอปพลิเคชัน GET

ธุรกิจ Ride-hailing สำหรับรถจักรยานยนต์ยังมีโอกาสโตอีกมาก เพราะคนกรุงเทพฯ เองมี Pain Points ที่ธุรกิจนี้สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น รถติด การเดินทางโดยจักรยานยนต์ก็จะช่วยให้สะดวกขึ้น หรือการยกระดับบริการให้สามารถเข้าถึงตามตรอกซอกซอยได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่ Grab ปัจจุบันให้บริการ Ride-hailing ใน 20 เมือง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ และปริมณฑล, พัทยา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, เชียงใหม่, เชียงราย, อุดรธานี, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, สุรินทร์, บุรีรัมย์, หัวหิน, เกาะสมุย, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, หาดใหญ่, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง และมีแผนจะขยายไปถึง 30 จังหวัดภายในปี 2020

Ride-hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:

จากปี 2523 ถึงปี 2560 จำนวนประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ส่งผลให้เกิดความแออัดและทำให้ความเป็นเมืองได้แพร่กระจายออกไปโดยรอบ และการเติบโตของแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟนมาจากแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ที่ต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็ว ผู้คนสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ผ่านการใช้สมาร์ทโฟน

จากข้อมูลของ Google และ Temasek พบว่าประชากรจาก 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 350 ล้านคน จากทั้งหมด 570 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 260 ล้านคน ในปี 2558 นอกจากนี้ ยังพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ

ส่งผลให้บริการ Ride-hailing หรือการเรียกใช้บริการยานพาหนะประเภทต่าง ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชันไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการคมนาคม การขนส่งพัสดุหรืออาหาร หรือระบบการชำระเงิน ระบบ E-payment ต่างก็มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ประเทศไทย, เมียนมา และลาว เป็น 3 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รอการปรับแก้กฎหมายการให้บริการรถโดยสารส่วนบุคคลสาธารณะ Ride-hailing โดยอีกทั้ง 7 ประเทศในภูมิภาคได้มีการปรับแก้กฎหมายให้รองรับแล้ว เช่น สิงคโปร์ ที่มีการกำกับควบคุมดูแลโดย LTA (Land Transport Authority of Singapore) ได้ออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างรถแท็กซี่เดิมและรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการ Ride-hailing ปกป้องผลประโยชน์ของผู้โดยสาร

ประโยชน์ของ Ride-hailing ต่อประเทศไทย:

1.ความปลอดภัย แอปพลิเคชันช่วยให้สามารถติดตามการเดินทางได้ตลอดเวลา และการแสดงข้อมูลของผู้ขับขี่ที่น่าเชื่อถือ เช่น ชื่อ-นามสกุล. เบอร์โทรศัพท์. ทะเบียนรถ รุ่นรถ, ประวัติอาชญากรรมผู้ขับรถยนต์, การให้คะแนนของทั้งฝั่งผู้ขับและผู้โดยสารเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาบริการ, ระบบแสดงความคิดเห็น, มีปุ่มกดฉุกเฉินภายในแอปพลิเคชันเพื่อติดต่อบุคคลภายนอกหรือแจ้งหน่วยงานให้ช่วยเหลือ เป็นต้น

2.ความโปร่งใส แอปพลิเคชันสามารถแสดงเส้นทางล่วงหน้าและราคาล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้การเดินทางและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่มีการเบิกจ่ายค่าเดินทางหรือตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง

3.จัดการเวลาได้ ช่วยให้ผู้โดยสาร สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีมากยิ่งขึ้น วางแผนจุดนัดรับ เวลานัดหมาย รู้เส้นทางและระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำประโยชน์ได้มากขึ้น

4.การเชื่อมต่อระหว่างนอกเมืองและในเมือง การบริการขนส่งสาธารณะนั้นเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการเดินทาง เน้นการเดินทางไปยังที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น Ride-hailing จะช่วยขยายเส้นเลือดฝอยให้เดินทางไปทั่วรอบเขตเมืองมากขึ้น จุดที่รถแท็กซี่ทั่วไปเข้าไม่ถึง ช่วยให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5.ความสะดวกสบาย การให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค สามารถเรียกรถได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องไปยืนรอตามสถานที่ต่าง ๆ สามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งเงินสด, บัตรเดบิต, บัตรเครดิต, ชำระเงินผ่านมือถือหรือระบบออนไลน์ นอกจากนี้การที่ระบบมีการบันทึกรายละเอียดการเดินทางในแต่ละเที่ยวทำให้ผู้โดยสารที่ลืมสิ่งของไว้บนรถ จะทำให้สามารถติดตามของคืนได้ รวมถึงยังมีระบบร้องเรียนผ่าน Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย

Ride-hailing หนึ่งในจิ๊กซอว์สู่การเป็น Smart City:

Ride-hailing มีความสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมเมือง แก้ปัญหาการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศในอาเซียนมากกว่าครึ่งได้นำบริการ Ride-hailing เข้าเป็นหนึ่งในแผนของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ (Smart Mobility) และเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาด้านอื่น ๆ รวมทั้งเป็นการพัฒนาสังคมเมืองให้เข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับภาครัฐและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

หนึ่งในตัวอย่างการนำ Ride-hailing มาพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะผ่านระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) คือ ช่วงที่มีการแข่งขันชิงแชมป์รถจักรยานยนต์ทางเรียบ (MotoGP) โดย Grab ได้ร่วมมือกับจังหวัดบุรีรัมย์ ผลักดัน “บุรีรัมย์โมเดล” มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวพร้อมยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชาวบุรีรัมย์อย่างยั่งยืน

ซึ่งสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ จัดการแข่งขันชิงแชมป์รถจักรยานยนต์ทางเรียบ (MotoGP) มีผู้เข้าร่วมชมงานและนักท่องเที่ยวกว่า 222,535 คน และทำรายได้ให้การท่องเที่ยวไทยมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในขณะที่บุรีรัมย์มีเที่ยวบิน 10 เที่ยวต่อวัน แต่กลับมีแท็กซี่รองรับผู้โดยสารเพียง 15 คัน

บุรีรัมย์จึงจับมือกับ Grab ใช้ผู้ขับขี่กว่า 600 คน ให้บริการนักท่องเที่ยวช่วง MotoGP ได้มากกว่า 15,000 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่นได้กว่า 1 ล้านบาท ในช่วงที่มีการแข่งขัน

“สุดท้ายนี้คงต้องมาดูกันว่าทิศทางของอุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยจะเติบโตไปในทิศทางใด และการปรับแก้กฎหมายที่กระทรวงคมนาคมเริ่มกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ Ride-hailing เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกกฎหมาย ที่คาดว่าจะลงนามประกาศได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 จะออกมาในรูปแบบไหน ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยหรือไม่”

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News