ธนาคารโลกเตือนว่า หากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสลุกลาม อาจดันราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้น นับเป็นการประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ครั้งแรกของธนาคารโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบันผลกระทบจากความขัดแย้งยังอยู่ในวงจำกัด และราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นประมาณ 6% ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อย่างข้าวและโลหะ แทบไม่เพิ่มขึ้น
ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาพที่สามารถรับมือกับการแกว่งตัวของราคาน้ำมันได้ดีกว่าช่วงทศวรรษ 1970 แต่หากความขัดแย้งบานปลาย และตลาดน้ำมันเกิดติดขัดผลจากสงครามยูเครนด้วยนั้น อาจทำให้ตลาดอยู่ในภาวะช็อกเพราะเจอผลกระทบ 2 ทาง คือทั้งจากสงครามยูเครนและการสู้รบของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
หากความขัดแย้งบานปลาย ธนาคารโลกมองว่าราคาน้ำมันอาจดำเนินไปใน 3 ทิศทาง ขึ้นอยู่ที่ว่ากระทบต่อการจัดหาน้ำมันมากน้อยขนาดไหน โดยหากกระทบการจัดหาน้ำมันเพียงเล็กน้อย คือการจัดหาน้ำมันในโลกลดลงวันละ 500,000 บาร์เรลถึง 2 ล้านบาร์เรล คล้ายช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในลิเบียเมื่อปี 2554 ราคาน้ำมันอาจขยับไปอยู่ที่บาร์เรลละ 102 ดอลลาร์
ในกรณีที่กระทบต่อการจัดหาน้ำมันในระดับปานกลาง คือการจัดหาน้ำมันในโลกลดลงวันละ 3-5 ล้านบาร์เรล คล้ายช่วงสงครามอิรักเมื่อปี 2546 ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้น 35% ไปอยู่ที่ 121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ในกรณีที่กระทบต่อการจัดหาน้ำมันครั้งใหญ่ คือการจัดหาน้ำมันในโลกลดลงวันละ 6-8 ล้านบาร์เรล คล้ายช่วงปี 2516 ที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในโลกอาหรับ คว่ำบาตรน้ำมันชาติตะวันตก เพื่อตอบโต้ที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์ ราคาน้ำมันจะทะยานขึ้น 75% ไปอยู่ที่ระดับ 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำลายสถิติเดิมของราคาน้ำมัน ซึ่งเคยขึ้นไปแตะระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปี 2551
อินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ระบุว่าความขัดแย้งครั้งล่าสุดในตะวันออกกลาง เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เผชิญภาวะช็อกครั้งใหญ่สุดตั้งแต่ทศวรรษ 1970 นั่นคือการที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาจนถึงทุกวันนี้ บรรดาผู้กำหนดนโยบายจะต้องตระหนักว่าหากความขัดแย้งลุกลามออกไป เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะช็อกด้านพลังงาน 2 ด้านพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
นอกจากนั้น ธนาคารโลกยังเตือนว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก