HomeBusinessศก.โลกถดถอยส่งออกไทยส่อวูบ ถึงเวลาหาตลาดใหม่ช่วยกู้วิกฤต

ศก.โลกถดถอยส่งออกไทยส่อวูบ ถึงเวลาหาตลาดใหม่ช่วยกู้วิกฤต

การส่งออกของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจคู่ค้าที่เปราะบางมากขึ้น ทั้งจากฐานการส่งออกที่ทำสถิติสูงต่อเนื่องในปี 2565 ปัจจัยด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัว ตลอดจนปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าที่ล้วนทำให้ภาพการส่งออกในปี 2566 ไม่สดใสเท่าที่ควร

สำหรับแนวโน้มปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีนอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4/2565 โดยตลาดส่งออกหลักของไทยเจอมรสุมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มอ่อนไหวกว่าตลาดอื่นๆ ด้วยวิกฤตพลังงานและเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่คิดเป็นเกือบ 30% ของการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป

ตลาดสหรัฐฯ เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ส่งผลให้คาดว่าการส่งออกในสินค้าหลายประเภท อาทิ ยานยนต์ อัญมณี คงจะหดตัวลง แม้ว่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรศัพท์คาดว่าอาจยังขยายตัวได้หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นการเบนเข็มการส่งออกจากตลาดจีนไปตลาดสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากสงครามการค้า

- Advertisement -

ตลาดญี่ปุ่น ด้วยเศรษฐกิจเปราะบาง แม้ยังต้องการสินค้าอาหารและปัจจัยการผลิต แต่ต้องยอมรับว่าทำตลาดเติบโตได้อย่างจำกัด ตลาดจีนที่มาตรการโควิดเป็นศูนย์ผ่อนคลายไปมาก ส่งผลให้คาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะฟื้นกลับมาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอาหารไทย แต่ยังมีประเด็นท้าทายด้านการแข่งขันที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทย ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยที่มีสัดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโภคภัณฑ์ อาจเผชิญการส่งออกที่มีมูลค่าลดลงจากผลของราคา สำหรับตลาดอาเซียนแม้เศรษฐกิจในภาพรวมของสมาชิกยังมีภาพบวก แต่สินค้าไทยที่ส่งไปราว 30% ล้วนอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้การส่งออกไปตลาดดังกล่าวอ่อนแรงพอสมควร สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์เสี่ยงหดตัวในทุกตลาด อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ล้วนเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลงตามอุปสงค์โลกที่ลดลง ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่เป็นยางล้อรถยนต์ คงทำตลาดได้อย่างจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 มีความเสี่ยงหดตัวที่ 1.5% โดยคาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.82 แสนล้านดอลลาร์ฯ สินค้าในหมวดหมู่โภคภัณฑ์ที่อาจหดตัวจากราคาที่ลดลงตามอุปสงค์โลก ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ อัญมณี ยานยนต์ ก็อาจทำตลาดในเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญได้อย่างจำกัด อีกทั้ง สินค้าอาหารที่แม้ยังเติบโตแต่ก็มีสัดส่วนน้อย ส่วนสินค้าที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวอยู่ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากมีการเร่งเดินหน้าทำตลาดส่งออกในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่ไม่ใช่ตลาดหลักของไทย โดยเฉพาะตลาดตะวันออกลาง น่าจะช่วยได้พอสมควร

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News