ไทยแอร์เอเชียมอง ปี 64 จะยังคงประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปตลอดทั้งปี หวังเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่ออายุก่อนการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทยแอร์เอเชีย กล่าวในการอบรม โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ระบุว่า ภาพรวมของสายการบินในตลอดช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ หากดูโครงสร้างของต้นทุนพบว่าร้อยละ 30 ของต้นทุน เป็นค่าน้ำมันและอาจขึ้นไปถึง ร้อยละ 45 ซึ่งเมื่อหักลบกลบหนี้แล้วพบว่ารายได้ปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 3-5 เท่านั้น
ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ผันผวนสูง ไม่ว่าภายในประเทศจะเกิดวิกฤติอะไรขึ้นก็จะส่งผลให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบ เช่น อุทกภัย , กิจกรรมทางการเมือง ฯลฯ
“ในธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเกี่ยวข้องกับการบินมีการประเมิณว่ามีแรงงานราว 10 ล้านคน ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ราว 2 ล้านล้านบาท ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปทันที” นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นายธรรศพลฐ์ มองว่า ภายใน 3 เดือน สายการบินอาจต้องปิดการให้บริการกันเกือบทั้งหมดหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล และหากการเดินทางกลับมาสู่สภาวะปกติอาจไม่เหลือสายการบินอยู่เลย ทั้งที่ประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นจุดมุ่งหมายในธุรกิจด้านสุขภาพ
ในช่วงแรกที่มีการระบาด ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่เมื่อเกิดขึ้นจริงการระบาดยาวนานกว่าที่มีการประมาณการไว้ จนเป็นที่มาของมาตรการต่าง ๆ ของสายการบิน และต่อมาจึงเป็นที่มาของการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) นายธรรพลฐ์ บอกว่า ในที่ประชุมกับนายกรัฐมนตรีจะมีการนำงบประมาณมาช่วยเหลือได้ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ในเรื่องของการค้ำประกันรัฐบาลอาจต้องปรับเงือนไขในการค้ำประกันลง เพราะเชื่อว่าสายการบินแทบจะไม่มีทรัพย์สินมาค้ำประกันอยู่แล้ว
“การช่วยเหลือด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ก็ต้องใช้มาตรการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ไม่ใช่ใช้มาตรฐานก่อนโควิดมาใช้ ไม่เช่นนั้นประเทศ”ไทยคงไม่มีใครรอด”
ในการประชุมกับรัฐบาลเมื่อวานนี้ ก็มีการพูดถึงภูเก็ตโมเดล ก็อาจมีการพูดคุยลงมาในระดับเมือง เช่น เมืองใดที่ไม่มีการระบาดใน 30 วัน ก็จะมีการพิจารณา โดยผู้โดยสารก็จะต้องกักตัวจากต้นทางและปลายทางรวมกัน 14 วันและบินตรงจากเมืองนั้น ๆ สู้ภูเก็ต หรืออาจมีขั้นไปถึงการแยกหาดให้บริการในแต่ละประเทศ เป็นโครงการทดลองก่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเปิดประเทศทั้งหมดคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับแอร์เอเชียเองก็มีความพร้อมที่จะบินตรงไปยังประเทศต่าง ๆ ได้เลย
“ตั้งแต่เปิดสายการบินมา 17 ปี เคยปิดให้บริการยาวนานสุดเพียงแค่ 3 วัน เท่านั้น ตอนที่ไม่สามารถทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่ตลอดเวลาทั้งหมดยังเที่ยบไม่ได้กับการระบาดของโควิด-19” นายธรรศพลฐ์ กล่าว
แต่ข้อดีหนึ่งที่ นายธรรศพลฐ์ มองเห็นคือ การที่พนักงานสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทำงานจากที่บ้าน พบว่าบางแผนกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้การนำอาหารที่อยู่บนฟ้า เช่น ชานมไข่มุก มาขายในพื้นที่ใกล้สนามบิน ซึ่งมีการนำพนักงานที่โหลดสัมภาระมาส่งอาหารแทน ก็ทำให้สามารถรายจ่ายและนำรายได้มาเลี้ยงดูส่วนนั้น
สำหรับแผนการบริหารจัดการเที่ยวบินหลังจากนี้จะมีการถ่ายโอนเครื่องบินจากดอนเมือง มายังสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมการให้บริการภายในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มเจาะที่หัวเมืองใหญ่มากขึ้น ซึ่งจะเริ่มบินเที่ยวบินแรก 15 กันยายนนี้
ปัจจุบันสายการบินเคยขาดทุนอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท แต่หลังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และให้เริ่มมีการบินได้ยอดขาดทุนก็กลับตัวขึ้นมาดีขึ้นอยู่ที่ 4-500 ล้านบาท
นายธรรศพลฐ์ ยืนยันว่า สายการบินไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก เพื่อให้พร้อมเมื่อวัคซีนและสภาวะเศรษฐกิจกลับมา พร้อมทั้ยังเชื่อว่าจะยังคงเป็นสภาวะแบบนี้อยู่อย่างน้อยไปจนจบปี 2564 และจะเริ่มฟื้นตัวราวปี 2565 อีกทั้งยังมองว่ารัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ในจำนวนที่เกือบเท่ากัน
สำหรับมาตรการ “ไทย-เที่ยว-ไทย” ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ต้องทำให้ประชาชนออกเงินก่อน ดังนั้น นายธรรศพลฐ์ มองว่า รัฐบาลควรทำให้ระชาชนสามารถใช้ส่วนลดต่าง ๆ หรือมาตรการต่าง ๆ ได้ทันที เพราะเชื่อว่าประชาชนไม่มีเงินในการใช้จ่ายแล้ว