HomeBusinessแนะแนวทางหนุนภาคเกษตรไทย ทำอย่างไรให้เติบโต เสริมรายได้ยั่งยืน

แนะแนวทางหนุนภาคเกษตรไทย ทำอย่างไรให้เติบโต เสริมรายได้ยั่งยืน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินพืชเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นอย่างมาก แต่รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรต่ำ ในขณะที่กลุ่มพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวนกลับสร้างรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรได้มากกว่า แนะเกษตรกรสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจหลักด้วยการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้ ควรพิจารณาจัดสรรทรัพยากรพื้นที่เพาะปลูกไปยังกลุ่มพืชอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้น เพื่อเสริมรายได้เกษตรกรให้ยั่งยืนและดีขึ้นกว่าเดิม

ภาคเกษตรมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 8.8% ต่อจีดีพี สร้างการจ้างงานกว่า 12.2 ล้านคน คิดเป็น 30% ต่อแรงงานรวมทั้งประเทศ  อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2565) เติบโตค่อนข้างต่ำมีการขยายตัวเฉลี่ย 0.4% ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ต่อปี ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำคัญของประเทศคือทำอย่างไรให้ภาคเกษตรสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยซึ่งเป็นประชาชนฐานใหญ่ของประเทศที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคให้มีรายได้เติบโตมากขึ้นเพื่อยกระดับกำลังซื้อของภูมิภาคให้สูงขึ้น

ttb analytics ประเมินรายได้สุทธิต่อไร่ของพืชแต่ละชนิดในช่วงปี 2560-2565 และนำมาเปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานในการเพาะปลูก พบว่า พืชเศรษฐกิจให้รายได้สุทธิต่อไร่ค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้เฉลี่ย 5,315 บาทต่อไร่  มันสำปะหลัง 912 บาทต่อไร่ ข้าว 597 บาทต่อไร่ อ้อย -1,216 บาทต่อไร่ และยางพารา -2,634 บาทต่อไร่  ซึ่งมีครัวเรือนเกษตรกรเพาะปลูกจำนวน 8.38 ล้านครัวเรือน และใช้พื้นที่เพาะปลูกรวมกัน 123.8 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 14.8 ไร่ต่อครัวเรือน

- Advertisement -

ในขณะที่พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระเทียม หอมแดง และหอมหัวใหญ่ สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ได้มากกว่าพืชเศรษฐกิจ โดยมีรายได้สุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 20,841 บาทต่อไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรที่เพาะปลูก 1.11 ล้านครัวเรือน และมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกรวมกัน 11.46 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 10.2 ไร่ต่อครัวเรือน จะเห็นว่าการเพาะปลูกพืชของไทยยังกระจุกตัวอยู่ใน 5 พืชเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงงานมาก แต่สามารถสร้างรายได้สุทธิต่อไร่ได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศและภาคเกษตรให้เติบโตได้มากกว่าเดิม

ttb analytics แนะการจัดสรรทรัพยากรที่ดินและแรงงานภาคเกษตรอย่างสมดุลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้

พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ที่สร้างมูลค่ารายได้ให้กับประเทศมาก แต่กลับเป็นกลุ่มพืชที่สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ให้เกษตรกรค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรควรร่วมมือกันจัดการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

กล่าวคือการพัฒนาต้นน้ำในด้านการผลิต เริ่มตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบโดยวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานของพืชแต่ละประเภท เพื่อจะได้วางแผนการผลิตที่สมดุลไม่มากหรือน้อยเกินไป และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นและลดต้นทุนลง ดังจะเห็นได้จากผลประเมินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ปี 2559 – 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่พบว่าการรวมกลุ่มของเกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 9.69% และลดต้นทุนได้ 7.16% ซี่งจะทำให้เกษตรกรได้รับกำไรต่อไร่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การรวมกลุ่มกันจะทำให้มีอำนาจต่อรองในการขายและจัดซื้อวัตถุดิบ โดยในส่วนของภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ได้แก่ การให้ความรู้การเพาะปลูกที่ถูกต้อง สนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ (Smart Farming) มาปรับใช้ในการเพาะปลูก และการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน

การพัฒนาปลายน้ำในด้านการตลาด ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสร้างตลาดสินค้าเกษตรอย่างบูรณาการ โดยจัดให้มีจุดรับซื้อที่เป็นราคากลาง สร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรในพื้นที่นั้น ๆ (Agriculture Distribution Center) แบ่งเกรดสินค้าเกษตรอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาการเพาะปลูกที่ดีขึ้น รวมถึงภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ สร้างธุรกิจ SMEs ดำเนินการเป็นโซนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ การดำเนินการอย่างบูรณาการนี้ จะทำให้พืชเศรษฐกิจหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตนเอง ซึ่งจะไม่เป็นภาระด้านงบประมาณยามที่ราคาตลาดโลกตกลง

พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวนเป็นกลุ่มพืชที่สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ต่อครัวเรือนเกษตรกรสูง แต่มีครัวเรือนเกษตรกรเพาะปลูกไม่มากและใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจควรพิจารณาจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนมาทำการเพาะปลูกพืชดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของภาครัฐควรสนับสนุนให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชกลุ่มนี้ รวมถึงจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำกระจายออกไปให้ทั่วถึงตามพื้นที่ที่มีศักยภาพ สร้างความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News