เศรษฐกิจปี 2566 กำลังเผชิญความท้าทายที่ชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเครื่องยนต์หลักจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย “Krungthai COMPASS” ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.4% แต่การเปลี่ยนผ่านของแต่ละเครื่องยนต์หลักได้กระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในเดือน ธ.ค. 2565 และมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตต่อเนื่องนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาถึงระดับ 27.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้เพียง 22.5 ล้านคน
แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะชะลอตัวผ่านการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสกลับมาหดตัวถึง -1.6% รุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 0.7% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก และมีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าคาด สะท้อนจากการปิดตัวลงของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) จากการขาดสภาพคล่องเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าเป็นหลัก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนราคาสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่ยังคงมีต่อเนื่อง บทความฉบับนี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์ปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในรอบก่อน เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 รวมถึงเพื่อประเมินความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
จับตาความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า คือ ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาวิกฤตสถาบันเงินจากการปิดตัวลงของ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่เน้นการรับฝากและปล่อยกู้แก่ start-up ขาดสภาพคล่อง หลังลูกค้าถอนเงินเพื่อใช้ในธุรกิจและลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่ทางธนาคารไม่สามารถระดมเงินสดคืนผู้ฝากได้เพียงพอ เนื่องจากได้นำเงินฝากส่วนหนึ่งไปซื้อพันธบัตรระยะยาวซึ่งมีมูลค่าลดลงจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟด เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกและสั่นคลอนสถาบันการเงินอื่นได้แก่ First Republic Bank และ Signature Bank ส่งผลให้ทางการจำเป็นต้องปิดกิจการและช่วยคุ้มครองผู้ฝากเงิน รวมทั้งเข้ามาเสริมสภาพคล่องเพื่อปัองกันวิกฤตธนาคารล้มเป็นลูกโซ่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถาบันการเงินครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่สร้างผลข้างเคียงแก่ธนาคารบางแห่ง ซึ่งพันธบัตรที่ถือครองมีมูลค่าลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ย เป็นที่คาดการณ์ว่า แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากปัญหาของธนาคาร SVB ต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจส่วนรวม อาจลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง พร้อมกับพยายามสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินให้แข็งแกร่งเพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา โดยเฉพาะการสร้างสภาพคล่องที่มากเพียงพอต่อสถาบันการเงินเพื่อรับมือกับกระแสเงินฝากที่ไหลออก และบรรเทาภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน
ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ สู่เศรษฐกิจไทย ค่าเงินบาทโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น การปิดตัวลงของธนาคาร SVB ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจแตะระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ประมาณ 5.00-5.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ประกอบกับปัจจัยด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเข้าไทยต่อเนื่องสนับสนุนให้ค่าเงินบาทปีนี้ยังมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางแข็งค่า
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงของสหรัฐฯ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าเท่านั้น และคาดว่าไม่กระทบต่อสถาบันการเงินของไทยเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทย Krungthai COMPASS ยังคงมุมมองเดิมว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 2.0% ภายในกลางปีนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่ายังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ไปถึงกลางปีนี้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากระดับราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคาเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และราคาค่าห้องพักโรงแรมที่สูงขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25bps ไปจนถึงระดับ 2.0% ในกลางปีนี้
จับตาการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปี 2566 อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังจากนั้น กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหรือประมาณเดือน ก.ค. และคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการหลังการเปิดประชุมรัฐสภาภายในช่วงเดือน ส.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อาจล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผ่านร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แยกเป็น งบรายจ่ายประจำ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 7.17 แสนล้านบาท รายจ่ายอื่น (เช่น ชำระคืนเงินกู้) อีก 1.41 แสนล้านบาท แต่จำเป็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ได้เคยเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าว โดยส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เกิดขึ้นในประมาณไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด
Krungthai COMPASSS ประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นหลัก เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ขณะที่โครงการลงทุนสำคัญใหม่ๆ ตามร่าง พรบ.งบประมาณจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 ต้องล่าช้าออกไป โดยกระบวนการพิจารณาอนุมัติต่อรัฐสภาจะได้รับผลกระทบจากภาวะสุญญากาศที่ขาดรัฐบาลใหม่ รวมทั้งยังต้องใช้เวลากว่าที่ร่างกฎหมายจะผ่านสภา คาดว่าจะร่าง พรบ.งบประมาณ จะไม่สามารถออกได้ทันเงื่อนเวลาเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในไตรมาสที่ 4/2566 (ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567) ความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าปกติ คิดเป็นวงเงินประมาณ 5.73 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับ 0.3ppt. ของ GDP ซึ่งในภาพรวมถือเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนภาครัฐ
Krungthai COMPASS คาดเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.4% จากภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 27.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 22.5 ล้านคน โดยคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทจากประมาณการรอบก่อน หรือประมาณ 1.7% ของจีดีพี
ขณะที่ด้านการค้าโลกมีแนวโน้มแผ่วลงต่อเนื่องทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาจกลับไปหดตัวที่ -1.6%YoY เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.7%YoY และผู้ผลิตอาจคงสต๊อกสินค้าในระดับต่ำท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากถึง -1.0%YoY มากกว่าที่เคยคาดไว้จากความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านโควิด-19 ที่ลดลง ปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจปีนี้ (Base case) ยังเติบโตได้ที่ 3.4% ใกล้เคียงเดิมกับที่เคยประเมินไว้ในครั้งก่อน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้านทั้งความเสี่ยงด้านบวกและความเสี่ยงด้านลบ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านบวก (Best case) คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าอาจเพิ่มสูงถึง 29.6 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากกรณี Base case ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.6ppt. ของจีดีพี ขณะที่ความเสี่ยงด้านลบที่อาจทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าคาด (Worse case) คือ การค้าโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาด ประกอบกับวิกฤตสถาบันการเงินที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น การบริโภคและการลงทุนของประเทศคู่ค้าในตลาดโลก และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้าจากการเลือกตั้งในช่วงกลางปี โดยคาดว่าจะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากกรณี Base case ถึง -0.8ppt. และ -0.3ppt. ตามลำดับ