เนสท์เล่ เดินหน้าขยายการลงทุนระยะยาว ทุ่ม 4,500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิต 3 โรงงาน รับดีมานด์พุ่งและ ทุ่ม 50 ล้านบาท ในระบบดิจิทัล รับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เนสท์เล่ ใช้เงินลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตใน 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานอมตะ โรงงานบางชัน และ โรงงานยูเอชที นวนคร7 เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ไอศกรีม และเครื่องดื่มยูเอชที โดยการลงทุนดังกล่าวเป็นกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวในประเทศไทย
“เนสท์เล่เชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดประเทศไทย และมองเห็นถึงการเติบโตในระยะยาว จึงเดินหน้าขยายการลงทุน นำนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนควบคู่กับคำนึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในการนำระบบดิจิทัลและตั้งทีม อี–บิสซิเนส (E-Business) เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2561 นับตั้งแต่นั้นมา และได้ลงทุนทั้งด้านระบบและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้ใช้งบลงทุน 50 ล้านบาท เพื่อจัดหาเครื่องมือที่ดีที่สุด รวมทั้งร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จัดการอบรมเพื่อให้ก้าวทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมลงทุนในการสร้างเทคโนโลยีด้านการตลาดโฆษณา และระบบการจัดการข้อมูล
สำหรับ เงินลงทุนดังกล่าวแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆดังนี้
โรงงานอมตะ – ใช้เงินลงทุนมูลค่า 2,550 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และเสริมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง คาดว่าจะสามารถเริ่มเดินสายพานการผลิตได้ในช่วงกลางปี 2564
โรงงานบางชัน – ใช้เงินลงทุนมูลค่า 440 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและสร้างความหลากหลายในธุรกิจไอศกรีม พร้อมผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ เริ่มเดินสายการผลิตไปแล้วในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
โรงงานยูเอชที นวนคร7 – ใช้เงินลงทุนมูลค่า 1,530 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องดื่มยูเอชที ได้แก่ ไมโล และ นมตราหมี พร้อมผลิตหลอดกระดาษแบบงอได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำหลอดกระดาษมาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยูเอชทีของไทย
อย่างไรก็ตาม ได้ผลการสำรวจพบว่า ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีความโดดเด่นใน 5 ด้านดังนี้
1. เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
2. ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่นเพื่อช่วยเติมเต็มความสุขระหว่างวัน
3. ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความท้าทาย
4.ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
5. ช่องทางอีคอมเมิร์ซ และบริการส่งอาหาร (ฟู้ดเดลิเวอรี่) มีการเติบโตสูง เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก เนสท์เล่จึงนำอินไซต์เหล่านี้เป็นข้อมูลวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในครั้งนี้
ด้านตลาดอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ประเทศไทยคาดการณ์อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 30% แต่ช่วงที่เกิดโควิด-19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นอีก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาช้อปของใช้ในบ้านและสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2563 ยอดขายออนไลน์ของเนสท์เล่โตกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า
ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบแต่เป็นไปตามเป้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่นอกบ้านตามสถานการณ์ ขณะที่กลุ่มใช้ในครัวเรือนยังสามารถรักษาระดับผลประกอบการได้ดี