บ้านปู วางแผน 5 ปี ธุรกิจแหล่งพลังงาน การผลิตพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงาน ในชื่อ Greener & Smarter เพื่อปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นพลังงานสะอาด กับกลยุทธการทำงานที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า แหล่งพลังงานของธุรกิจบ้านปู ณ วันนี้ มีส่วนที่เกี่ยวกับพลังงานถ่านหินอยู่ที่สัดส่วนที่สูงกว่า 65 % โดยที่แก๊สเพิ่มมาประมาณ 5% และส่วนที่เป็นการผลิตพลังงานอยู่ที่ประมาณ 30% ด้านเทคโนโลยีพลังงานยังอยู่ที่ 0% แต่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป ภายในปี 2025 จะลดสัดส่วนที่เป็นธุรกิจถ่านหินลงมา เติบโตขึ้นในส่วนที่เป็นแก๊สและพลังงานทดแทน ในส่วนเทคโนโลยีพลังงานจากที่ 0% มองว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นมาได้ถึงประมาณ 5% โดยตั้งเป้าไว้ใน 5 ปี ข้างหน้า หลังจากนั้นไปอีก 5 ปีก็คงจะสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่กระบวนการนี้อยู่ในระยะการเปลี่ยนแปลงของบ้านปู
บ้านปู กำหนดแผนกลยุทธที่ชื่อว่า Greener & Smarter ซึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมภายในที่เป็น Mega Trend ของโลก
ตัวที่ 1 Decarbonization (การสลายตัว) ต้องเป็นพลังงานสะอาดขึ้น
ตัวที่ 2 Decentralization (การกระจายอำนาจในการจัดการ) จากเดิมธุรกิจพลังงาน ที่เริ่มจากการผลิตพลังงานขนาดมหาศาล ขายสู่ภาครัฐ ภาครัฐนำมาขายต่อให้ภาคประชาชน หลักการนี้จะเปลี่ยนไป โดยภาคประชาชนจะสามารถผลิตพลังงานขึ้นเองได้
ตัวที่ 3 Digitization (การแปลงเป็นดิจิทัล) โดยกลยุทธการทำงานจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งบ้านปูได้ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลมา 2 ปีแล้ว
ตอนนี้ในหลาย ๆ กระบวนการของบ้านปู ได้นำดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ มีการสร้างข้อมูล การสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาสู่แผน Greener & Smarter ทำให้แยกธุรกิจออกมา ก็คือ แหล่งพลังงาน ซึ่งประกอบไปด้วย ถ่านหินและแก๊ส โดยธุรกิจถ่านหินและแก๊สมีความั่นคงสูงมาก เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่มองไปถึงปี 2030 ซึ่งในปี 2040 นี้แก๊สก็ยังใช้อยู่ประมาณ 30% ของพลังงานโลก พลังงานของโลกยังไม่ได้สูญไป ฉะนั้นบ้านปูยังคงตั้งอยู่ในธุรกิจที่เป็นแหล่งพลังงาน 2 ตัวนี้เป็นตัวหลัก และคิดว่ายังสามารถเติบโตต่อไป แต่ในอนาคตด้วยความที่โลกพัฒนาไปทางดิจิทัลมากขึ้น การใช้แบตเตอรี่จะมีมากขึ้น ฉะนั้นบ้านปูจะมีความชำนาญอีกส่วนหนึ่ง ก็คือการทำเหมืองที่เกี่ยวกับวัตถุดิบต้นน้ำที่นำไปผลิตแบตเตอรี่ โดยจัดไว้อยู่ในส่วนของธุรกิจแหล่งพลังงานเช่นเดียวกัน
สมฤดี ยังเผยอีกว่า ในส่วน ธุรกิจผลิตพลังงาน ยังเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจหรือวิกฤติต่าง ๆ มากนัก เพราะแม้เกิดภาวะเศรษฐกิจอย่างไร คนก็ต้องใช้ไฟอยู่ ทำงานที่บ้านยิ่งใช้ไฟมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจในส่วนนี้ก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และในส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วนนี้ก็เติบโตได้เร็ว แม้พลังงานหมุนเวียนอาจได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่สามารถเพิ่มจำนวนโครงการได้เร็วกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งบ้านปูได้ตั้งเป้าหมายในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 1,100 เมกะวัตต์ และธุรกิจที่เป็นพลังงานไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ ฉะนั้นโดยรวมแล้วบ้านปูก็จะอยู่ประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ ของการผลิตพลังงาน
ในธุรกิจที่สาม ซึ่งเป็นธุรกิจน้องใหม่ของบ้านปู คือ ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีแผนที่จะสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อสายส่ง (Solar Rooftop) เป็นโรงไฟฟ้าบนหลังคาประมาณ 500 เมกะวัตต์ โดย ณ ตอนนี้บ้านปูทำได้ 172 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025 คาดว่าจะทำให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะพลังงานบนหลังคาเท่านั้น แต่จะทำตั้งแต่ผลิตพลังงานสะอาด แล้วนำมาออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ของลูกค้า โดยการเพิ่มยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถสองล้อ รถสามล้อ หรือรถสี่ล้อ รวมถึงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งจะเป็นการผลิตรูปแบบใหม่ที่จะมาตอบรับกับเทรนด์ของการกระจายอำนาจในการจัดการ
“ความเป็นบ้านปู ความเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงาน จะอยู่ใกล้กับประชาชนมากขึ้น มากกว่าในภาพเดิมที่บ้านปูจะเป็นเรื่องของรายใหญ่ ๆ ตอนนี้บ้านปูก็จะลงมาสู่วิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี่ มองว่าทุกส่วนทั้งแหล่งการผลิตพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงาน กำลังมีการวางแผน แล้วก็เติบโตไปได้ดี” สมฤดี กล่าว
อ่าน : บ้านปูรุก “พลังงานทดแทน-เอนเนอร์ยี เทคโนโลยี”
อ่าน : บ้านปูทุ่ม 2,000 ล้านบาท ซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม