การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 สร้างผลกระทบต่อการจ้างงานในวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการเองที่ต้องปรับโครงสร้างงานครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขาลงทั่วโลก ขณะเดียวกันมุมมองทัศคติของมนุษย์เงินเดือนก็เปลี่ยนแปลงไป มองหาความมั่นคงชีวิตของการทำงานเพิ่มขึ้น
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการและคนทำงานถึงผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คน และผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท พบว่าคนทำงาน 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสถานะการทำงาน แต่อย่างไรก็ตามแน้วโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าพบสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากฝั่งผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
จากการสำรวจพบว่ากว่า 25% ของคนทำงานได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบมีระดับความรุนแรง
- ถูกเลิกจ้าง 9%
- ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง 16%
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานอยู่ในกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท มีลักษณะงานเป็นสัญญาจ้าง อายุมากกว่า 45 ปี และทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน
ผลการสำรวจยังเผยให้เห็นว่าคนทำงานที่ยังคงทำงานอยู่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19
- ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) 48%
- ได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างรายได้ 45% ในจำนวนนี้ 27% ไม่ได้โบนัส 20% ไม่มีการปรับเงินเดือน และ 14% ถูกลดเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกลดเงินเดือนระหว่าง 11-20% ของรายได้
จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ยังได้สำรวจ “ดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทย”
- โดยก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบอยู่ที่ 85%
- ในช่วงของการระบาดลดลงเหลือเพียง 59%
- ดัชนีความไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน โดย 46% คนทำงานระบุว่าชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น
- พนักงานในสายงานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงสายงานการตลาดดิจิทัล งานอี-คอมเมิร์ซ และงานโซเชียลมีเดีย เป็นกลุ่มสายงานที่ทำงานต่อวันเป็นระยะเวลานานขึ้นเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้านอีกด้วย
สำหรับการดึงดูดคนหางานให้เลือกสมัครงานกับองค์กร จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจ ‘Laws of Attraction’ (LOA) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จากคนทำงานทั่วประเทศไทยหลากหลายเจนเนอเรชั่นกว่า 6,000 คน
ผลสำรวจพบว่า 3 ปัจจัยแรกที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุด
- เงินเดือน/ค่าตอบแทน
- ความมั่นคงในการทำงาน
- ความก้าวหน้าในสายอาชีพ
“ความมั่นคงในการทำงานมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากเงินเดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในการสำรวจจากคนทำงานทั้งหมด 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจากคำตอบคนทำงานในไทยมองเรื่องความมั่นคงในการทำงานมีความสำคัญมากกว่าเรื่องสวัสดิการ ถึง 3 เท่า สำคัญกว่าตำแหน่งที่ตั้งของที่ทำงาน 2 เท่า และ 1.4 เท่าสำคัญกว่าเรื่องความสมดุลในชีวิต”
“องค์กรต่าง ๆ ควรเร่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อลดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความสมดุลของชีวิตและการทำงาน รวมถึงสวัสดิภาพของพนักงาน หลังจากเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นฟูหลังจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งคนทำงานจะมองหาองค์กรในมุมที่แตกต่างออกไป โดยองค์กรที่สามารถสร้างจุดแข็งและสร้างความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนจะได้เปรียบในการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถไปร่วมงาน ทำให้ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนจากตลาดที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยคนทำงาน”
พรลัดดา กล่าวต่อ ในขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในฝั่งของผู้ประกอบการที่มีในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องเผชิญกับความท้าทาย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับแผนดำเนินงานในการรับมือ
- ส่งเสริมให้พนักงานทำงานที่บ้าน 52%
- ปรับนโยบายการจ้างงาน 47% ซึ่งในจำนวนนายจ้างที่ได้ปรับนโยบายการจ้างงานพบว่า 39% หยุดการรับพนักงานใหม่ และ 12% ลดจำนวนพนักงาน
- ผู้ประกอบการกว่า 37% จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน อาทิ 21% ไม่มีการปรับเงินเดือน 20% พิจารณามาตรการลดเงินเดือน และ 18% จะงดการจ่ายโบนัส
ผลสำรวจยังเห็นสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากผู้ประกอบการที่สะท้อนในการสำรวจดังกล่าว สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 88% มีแนวโน้มการจ้างงานอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า
- ผู้ประกอบการกว่า 33% ชี้ว่าอยากจะจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศ
- ผู้ประกอบการกว่า 53% มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่เพื่อทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้นพบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานมากที่สุดใน 5 สายงานใน 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่
- งานไอที
- งานการตลาด/งานประชาสัมพันธ์
- งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ
- งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม
- งานจัดซื้อ
จ๊อบส์ ดีบี ได้ขยายโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการได้คนทำงานที่ตรงใจ รวมถึงผู้หางานได้พบงานที่ดีมีคุณภาพจากองค์กรชั้นนำที่น่าเชื่อถือ