นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เรียกสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ เข้าหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดำเนินการภายใน 6 เดือน โดยเบื้องต้นจะให้แบงก์รัฐกลับไปหาข้อสรุปในการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น
ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยนั้น ที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ช่วยเหลือลูกหนี้โดยให้พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราว แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ทำให้อาจมีแนวทางช่วยเหลือลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือ 0.01% ด้วย ซึ่งอยู่กับคุณภาพของลูกหนี้ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเรียกสถาบันการเงินเข้าหารือเกี่ยวกับการปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อาจจะปรับลดดอกเบี้ยส่วนนี้ลงอีก 1-2% ครอบคลุมสินเชื่อที่มีเพดานดอกเบี้ยสูงกว่า 20% ต่อปี เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น อาจมีผลถึงสิ้นปี 2565
ทั้งนี้เบื้องต้นจะมีความชัดเจนได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้กู้เดิม ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและยังถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง แม้ว่าการลดเพดานดอกเบี้ยลง 1-2% จะไม่ช่วยเรื่องความสามารถในการชำระคืนนี้ของกลุ่มเปราะบางมากนัก แต่จะเน้นช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายเป็นหลัก เพื่อให้คนกลุ่มนี้ยังมีเงินเหลือพอสำหรับการยังชีพในภาวะวิกฤติ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าการลดเพดานดอกเบี้ยลงทุก 1% จะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงได้ประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี
สำหรับปัจจุบันดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน ได้ปรับลดเพดานเมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 ที่ผ่านมา โดยดอกเบี้ยบัตรเครดิตลดจาก 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี , ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี และสินเชื่อจำนำทะเบียนจาก 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี