ธปท.ชี้เงินกองทุน 18.75 รับมือหนี้เสียได้บางส่วน ลุ้นแบงก์ส่งผล Stress Test และแผนจัดการเงินกองทุนใหม่รับมือ 3 ปี ส่งปลายเดือนก.ค. พร้อมเปิดวิธีเติมเงินกองทุน รับมือตั้งสำรอง หากหนี้เสียพุ่ง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีหุ้นแบงก์ได้รับผลกระทบจากการห้ามธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน พร้อมทั้งให้จัดทำแผนบริหารจัดการ”เงินกองทุนใหม่”ได้ชัดเจนขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนนั้น
เนื่องจากธปท. มุ่งหวังในการสร้างสภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งต้องการเสริมสร้างเงินกองทุนให้มีความแข็งแกร่งนะระยะยาว
“เราต้องการให้ธนาคารพาณิชย์มีการ์ดที่สูงไว้ การมีเงินกองทุนที่สูง ถือเป็นการดูแลเชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแล้วมาแก้ไขในภายหลังที่จะทำได้ยากกว่าเหมือนเช่นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ” นายรณดลกล่าว
โดยสถานการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมี NPL 50%ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยเกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาค นำโดยภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก และการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ (BIBF) แต่สถานการณ์ปัจจุบัน เกิดจากโรคระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน เพราะจากบทเรียนปี 2540 แก้ไขหลังเกิดปัญหามีความยากลำบากกว่า แต่ครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเชิงรุกก่อน
นายรณดล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาสแรก 2563 มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ระดับ 18.7% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 3.05% ซึ่งระดับเงินกองทุนปัจจุบัน เพียงพอรองรับหนี้ NPL ได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นความชัดเจนสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์โดยภาพรวม หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ จัดทำ Stress Test และแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าของแต่ละธนาคาร โดยให้คำนึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตและคุณภาพของลูกหนี้ ซึ่งจะส่งมาให้ธปท. ในปลายเดือนก.ค. 2563
“ก่อนหน้านี้ เราขอให้ธนาคารพาณิชย์ทำ Stress Test มาเมื่อสิ้นปีที่แล้ว แต่หลังจากมีโควิด ได้ให้ทำ Stress Test ใหม่ เพื่อให้เห็นภาพในระยะข้างหน้า ยิ่งมี BIS สูง ก็ยิ่งเป็นภูมิคุ้มกันกับแบงก์ เราทำมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไข เพื่อตั้งรับไว้ในระยะข้างหน้าที่โควิดไม่รู้จะจบเมื่อไหร่” นายรณดลกล่าว
สำหรับผลของ Stress Test และแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ จากโควิด-19 ของธนาคารพาณิชย์ ออกมาแล้ว หากพบว่า มีรายใดที่มีปัญหาเงินกองทุนต่ำระดับ 12.5% ธปท. จะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อเพิ่มเงินกองทุนให้สูงขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ไม่ควรต่ำกว่า 12.5%
นายรณดล กล่าวว่า ส่วนวิธีการเพิ่มเงินกองทุนนั้น ได้แก่ การนำกำไรสะสมมาใส่เงินกองทุน การออกหุ้นกู้ หรือแม้แต่การเพิ่มทุนก็เป็นแนวทางหนึ่งได้เช่นกัน ซึ่งการเพิ่มทุนไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพราะเพิ่มทุนใส่ให้เงินกองทุนเพิ่มขึ้น จะช่วยให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และทำให้ฐานะการเงินแข็งแกร่ง เป็นกันชนเมื่อเกิดปัญหา
แต่อย่างไรก็ตาม นายรณดล กล่าวว่า ธปท. จะไม่ปล่อยระบบธนาคารพาณิชย์มี NPL ไปถึงระดับ 50%เช่นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งแน่นอน เนื่องจากขณะนี้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาเพิ่มเติมเป็นระยะที่สองแล้ว หลังจากมาตรการระยะแรกสำหรับกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่กำลังจะทยอยครบกำหนดในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
“เราจะมีมาตรการเข้าไปดูแลสถาบันการเงินนั้นๆ ถ้าลูกหนี้มีปัญหา ต้องตั้งสำรอง ซึ่งเราจะไม่ปล่อยให้เขามีเงินกองทุนต่ำไปถึงจุดหนึ่ง เราต้องการป้องกันมากกว่ามาแก้ไขทีหลัง การตั้งรับไว้ข้างหน้า จะช่วยในระยะยาวเติบโตได้ยั่งยืน และอย่างน้อยเราก็ช่วยให้สถาบันการเงินขับเคลื่อนไปได้ เยียวยาเศรษฐกิจ“ นายรณดลกล่าว
โดยจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในวันนี้ ยังกระจายวงกว้าง ถือเป็นมิติที่ธปท.ต้องติดตาม และจากที่ธปท.ได้บทเรียนในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ยิ่งเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ปัจจุบันลุกลาม จึงมีมาตรการเชิงรุกเพื่อให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้อยู่ในลูกหนี้ชั้นปกติ เพื่อให้ตั้งสำรองหนี้เสียที่ลดน้อยลง ดังนั้นถือเป็นมาตรการที่ธปท. เร่งรัดให้เจ้าหนี้ดูแลลูกหนี้
“เราให้ความสำคัญกับเงินกองทุนเป็นลำดับแรก เพราะเงินกองทุนสูง จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และยังเรียกความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน ผู้ฝากเงินในระยะยาวด้วย เราหวังใจว่า มาตรการเชิงรุกที่ทำตอนนี้ จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี” นายรณดลกล่าว