HomeBusinessรองประธาน Fed ลงจากตำแหน่ง อีกหนึ่งปัจจัยกดดันดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อในปีนี้ ?

รองประธาน Fed ลงจากตำแหน่ง อีกหนึ่งปัจจัยกดดันดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อในปีนี้ ?

โดย สวภพ ยนต์ศรี AFPT™ Senior Wealth Manager บลจ.ทิสโก้


ปัจจัยสำคัญที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกตลอดช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็วของ Fed ที่หลังจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และ Fed ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0% ในช่วงเกิดเหตุการณ์ COVID-19 แพร่ระบาด มาอยู่ที่ 4.75%

โดยหากจะย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงที่ Fed เริ่มแสดงท่าทีเปลี่ยนแปลงทิศทางดอกเบี้ยและตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลดลง ปัจจัยที่เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่เติมความร้อนแรงของการปรับตัวลงของตลาด ก็คือ การแต่งตั้งประธาน Fed คนใหม่ หลังจากที่นาย Jerome Powell ครบวาระการดำรงตำแหน่งในสมัยแรก ที่ในตอนแรกตลาดคาดการณ์ว่า Lael Brainard หนึ่งในคณะกรรมการ Fed ที่มีท่าที Dovish (ชอบดอกเบี้ยต่ำ) มากที่สุดคนหนึ่งจะได้รับเลือกให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนใหม่ แต่ในท้ายที่สุด อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า คนที่ได้รับเลือกให้เป็นประธาน Fed ก็คือ Jerome Powell ซึ่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 ที่ดูจะมีท่าที Hawkish (ชอบดอกเบี้ยสูง) และทำให้ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลดลงแรงหลังจากนั้น

- Advertisement -

ซึ่งต่อมา Lael Brainard ก็ได้รับเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองประธาน Fed และถึงแม้ Brainard จะสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่างจากคณะกรรมการ Fed ท่านอื่นหลังจากเข้าดำรงตำแหน่ง แต่การออกมาให้ความเห็นหลายครั้งในปีนี้ Brainard ก็เริ่มที่จะแสดงความเห็นในเชิงมีความกังวลว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไปจะเริ่มส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่ง Brainard ถือเป็นคณะกรรมการ Fed ที่ออกมาให้ความเห็นในทิศทางในเชิง Dovish มากที่สุดในปีนี้

แต่แล้วหลังจากการประชุม Fed ไปเพียง 1 ครั้งในปี 2023 การประชุมครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้กลายเป็นว่าจะไม่มีชื่อของ Lael Brainard เข้าร่วมประชุมอีกต่อไป เนื่องจากเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Joe Biden พึ่งจะประกาศแต่งตั้ง Lael Brainard ให้เข้ามารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ โดยการลาออกจากคณะกรรมการ Fed ของ Brainard จะมีผลในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

ทำให้เริ่มเกิดความกังวลว่า หลังจากนี้ในการออกความเห็นเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะไม่มีคณะกรรมการที่คอยให้ความเห็นในเชิง Dovish อีกต่อไป ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการระบุว่า ปธน. Joe Biden จะแต่งตั้งใครขึ้นมารับตำแหน่งรองประธาน Fed แทน แต่นักวิเคราะห์เริ่มมีการคาดการณ์ว่า หากเป็นคณะกรรมการ Fed ชุดปัจจุบัน อาจเป็น Lisa Cook หรือ Susan Collins ที่เป็นสุภาพสตรีเช่นเดียวกัน ส่วนรายชื่อคนนอกที่ได้รับการคาดการณ์ว่า อาจได้รับเสนอชื่อ อาทิ Karen Dynan นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard และ Janice Eberly ศาสตราจารย์ทางด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย Northwestern ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธาน Fed แทน Brainard สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลก็คือ รองประธาน Fed คนใหม่ อาจจะไม่มีอำนาจโน้มน้าวใจ หรือน้ำหนักในการให้ความเห็นมากพอเหมือนกับ Brainard ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ Fed ตั้งแต่ปี 2014 และทำให้ความเห็นของกรรมการ Fed ทุกท่านต่อจากนี้จะออกมาในเชิง Hawkish หรือ ในเชิงเป็นกลาง (Neutral) โดยไม่มีความเห็นในเชิง Dovish หลงเหลืออยู่เลย

อย่างไรก็ดี การประชุม Fed ในครั้งถัดไป ไม่ว่าจะมี Lael Brainard เข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ 0.25% แต่การประชุมครั้งถัด ๆ ไปหลังจากนั้น สิ่งที่ตลาดจับตามอง คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปว่า จะมีขึ้นอีก 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งหลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมยังคงออกมาแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมออกมาสูงกว่าที่คาด ณ ปัจจุบันตลาดมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปแตะระดับสูงสุดที่ 5.50% ก่อนที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคม 0.25% ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปีของ Fed จะอยู่ที่ 5.25%

โดยหลังจากนี้การตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed ทุกท่านจะอยู่ที่ตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน เงินเฟ้อ และตัวเลขการบริโภคต่าง ๆ ที่ออกมา ซึ่งหากเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งด้านการจ้างงานและการบริโภคยังคงออกมาแข็งแกร่งสะท้อนว่า ยังสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก ท่าทีของ Fed ก็น่าจะยังออกมาในโทน Hawkish ต่อไป และถึงแม้ว่า Lael Brainard จะยังอยู่ในตำแหน่งรองประธาน Fed ก็คงจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม จะออกมาสูงกว่าที่คาด หรือ ตลาดจะมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ Fed จะขึ้นสูงสุดในปีนี้จะมากกว่าที่ตลาดคาดก็ตาม แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือ ในบางวันไม่ได้ปรับตัวลดลงสะท้อนข่าวประเด็นดอกเบี้ยของ Fed ในเชิงลบเหมือนกับในปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งก็พอจะตีความได้ว่า ตลาดได้รับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ Fed ไปที่ระดับ 5.50% ในปีนี้ไปแล้ว โดยที่ตำแหน่งรองประธาน Fed คนใหม่หาก ปธน. Biden แต่งตั้งบุคคลที่มีความเห็นเชิง Hawkish ก็อาจไม่ได้ส่งผลในเชิงลบต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่ในทางกลับกันหาก ปธน. Biden เลือกบุคคลที่มีความเห็นในเชิง Dovish เข้ามารับตำแหน่ง อาจจะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่สนับสนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดโดยที่ไม่มีใครคาดคิดก็เป็นได้

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News