นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนพัฒนาโมบายแบงก์กิ้ง สอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล โดยมีบริการใหม่ ๆ ตอบรับความต้องการ ควบคู่กับปรับรูปแบบให้สามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และลูกค้าในต่างจังหวัด คาดหวังการเติบโตฐานลูกค้าปีนี้เพิ่ม 30% จากปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานโมบายแบงก์กิ้งอยู่กว่า 10 ล้านราย หรือสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าใช้งาน 13 ล้านราย
ทั้งนี้ลูกค้าใหม่ๆคาดว่าจะสามารถขยับเพิ่มสัดส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่ 31.1% เป็น 40% ขณะเดียวกันจะสามารถขยายและกระจายฐานผู้ใช้งานออกไปยังทั่วประเทศได้เพิ่มขึ้น โดยพบว่า ปริมาณยอดธุรกรรมการใช้งานล่าสุดในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการใช้งานที่ใกล้เคียงกันระหว่างลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ 43.7% และต่างจังหวัด 56.3% สะท้อนถึงความสามารถในการขยายการให้บริการและฐานผู้ใช้งานให้เติบโตได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามภายหลังโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ได้ปรับรูปแบบครั้งใหญ่ไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาให้มีความทันสมัยและใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้งานยุคนิวนอร์มัล รวมทั้งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมให้แก่ผู้ใช้งาน โดยที่ผ่านมาโมบายแบงก์กิ้งได้เพิ่มเติมฟีเจอร์การทำงานใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าใจผู้ใช้งาน สามารถเติมเต็มความต้องการและประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งาน ทำให้สามารถรองรับได้ทั้งการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ได้ยกระดับศักยภาพแพลตฟอร์มให้รองรับความต้องการผู้ใช้งานทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมแล้ว โมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ในเวอร์ชั่นปีใหม่ปีนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ด้านการตลาดผ่านคลิปวิดีโอเพื่อสื่อสารกับลูกค้าผ่านคอนเซ็ปต์ โมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม เข้าใจคุณมากกว่าเดิม เล่าเรื่องในแบบที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่รวมทั้งกลุ่มลูกค้าในวงกว้างได้มากขึ้น เพื่อสร้างการจดจำ
“ได้จัดทำคลิปวิดีโอรวมทั้งสิ้น 6 คลิป 5 เรื่อง เน้นสร้างการรับรู้และจดจำฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็น ถอน-โอน, เติม-จ่าย, การลงทุน, การแลกรีวอร์ด และการเปิดบัญชีออนไลน์ ส่วนอีก 1 เรื่อง ภายใต้คอนเซ็ปต์ เหมือนเดิมแต่ไม่เหมือนเดิม เพราะเข้าใจคุณมากกว่าเดิ เพื่อตอกย้ำคอนเซ็ปต์และข้อความสำคัญที่ต้องการสื่อสาร รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริงได้มากขึ้น”