การสั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ กำลังส่งแรงสั้นสะเทือนไปทั่วโลก ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ความวิตกกังวลได้ลามไปถึงแคนาดา อินเดีย จีน และ อังกฤษ เนื่องจาก SVB มีสาขาอยู่ในจีน เดนมาร์ก เยอรมนี อินเดีย อิสราเอล และสวีเดนด้วย
โดยเหล่าผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีออกโรงเตือนว่า กรณี SVB ล้มอาจทำลายสตาร์ตอัปทั่วโลก หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ สิ่งที่น่าสนใจคือ สถานการณ์ครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ อย่างไร ทั้งค่าเงินบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยไปสหรัฐในปีนี้ ขณะที่นายกฯสั่งเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (13 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูง ท่ามกลางความกังวลความเสี่ยงต่อระบบธนาคารสหรัฐฯหลังธนาคาร SVB ถูกสั่งปิดกิจการ โดยนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยแนวโน้มค่าเงินบาท มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่ในส่วนเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways หรืออ่อนค่าลงได้บ้าง หลังทองคำและสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น อย่างเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจได้รับความสนใจจากผู้เล่นในตลาด มากกว่าเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลปัญหาธนาคาร SVB ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจนและต้องระวังการกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินดอลลาร์หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด
“เราแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” นายพูน ระบุ และว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% หลังธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสั่งปิดจากปัญหาสภาพคล่อง และรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ดีกว่าคาดชัดเจน ในสัปดาห์นี้ มองว่าตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูง ท่ามกลางความกังวลความเสี่ยงต่อระบบธนาคารสหรัฐฯหลังธนาคาร SVB ถูกสั่งปิดกิจการ และควรระวังช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
ขณะที่สถานการณ์หุ้นไทยก็ปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ เนื่องจากการปิดตัวของธนาคาร SVB ผสมความกังวลเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งยังต้องลุ้นว่าผลกระทบจะใหญ่แค่ไหน นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์หุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศที่ต่างปรับฐานลง เนื่องจากความกังวลธนาคารเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ที่สะท้อนว่าแบงก์มีปัญหาการปล่อยกู้ให้กับสตาร์ทอัพ ทำให้เพิ่มปัจจัยลบใหม่เข้ามาในตลาด จากเดิมที่ตลาดกังวลธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็มีควมเสี่ยงเรื่องเครดิตแบงก์ ซึ่งไม่รู้ว่าผลกระทบใหญ่แค่ไหน จึงมีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง หุ้นปรับตัวลงค่อนข้างแรง ตลาดหุ้นไทยก็หนีไม่พ้น เงินทุนต่างชาติก็ไหลออกเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน และรอตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนก.พ. ที่จะประกาศในวันอังคารนี้ โดยตลาดคาด 6.2% ชะลอจากเดือนม.ค.ที่ 6.4%
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นสัปดาห์ (13-14 มี.ค.) คาดว่าตลาดจะไม่ไปไหนไกล เพราะรอตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ หากเป็นไปตามที่ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะชะลอตัวลงก็จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นได้ และปัจจัยในประเทศ หากมีการประกาศยุบสภาก็เป็นปัจจัยบวกเข้ามา เพราะจะมีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะไม่เลื่อนออกไป โดยให้ให้แนวรับที่ 1,590 จุด แนวต้านที่ 1,620 จุด
ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวถึงสถานการณ์การปิดตัวของธนาคาร SVB จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหนว่า หาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ให้ชะลอต่อได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐ ไม่น่ากระทบเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลติดตามสถานการณ์จากที่เกิดกรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก พร้อมกับประเมินผลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่เพียงใด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง พร้อมกับประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากทั้ง 2 แห่งมีการทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ ไม่ได้มีการบริการแบบกว้างขวางเช่นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และทางการสหรัฐฯ ได้เข้าการเข้าดำเนินการเพื่อดูแลปัญหาที่รวดเร็ว