การถูกแห่ถอนเงินทำ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ หรือเอสวีบี ไปต่อไม่ไหว หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายระลอก จนว่าที่นักลงทุนไม่กล้าควักกระเป๋าลงทุนในสถาบันการเงินแห่งนี้ ซึ่งทำธุรกิจกับบรรดาสตาร์ทอัพในโลกไฮเทคและธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์ แคปิตอล
มาดูกันว่าเหตุใดเอสวีบีจึงไปต่อไม่ไหว ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด และเหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารในสหรัฐหรือทั่วโลกอย่างไรบ้าง
เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เอสวีบีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความซบเซาในหุ้นเทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงจากแผนการของเฟดที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยหลายระลอกเพื่อกำราบเงินเฟ้อ
เอสวีบีซื้อพันธบัตรมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มูลค่าการลงทุนกลับลดลง เพราะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับจากพันธบัตรในยุคปัจจุบันซึ่งอยู่ในยุคที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น
ปกติแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น เพราะธนาคารต่างๆ ถือครองพันธบัตรในระยะยาว เว้นแต่ต้องนำออกขายในยามฉุกเฉิน
ลูกค้าเอสวีบีเริ่มมีปัญหาการเงิน
ลูกค้าส่วนใหญ่ของเอสวีบีเป็นสตาร์ทอัพและบรรดาบริษัทที่เน้นเทคโนโลยี ซึ่งเริ่มมีปัญหาในการระดมทุนในช่วงปีที่ผ่านมาแต่ระยะหลังเงินทุนของเวนเจอร์แคปิตอลเริ่มร่อยหรอ เพราะบริษัทต่างๆ ไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากธุรกิจไม่ทำกำไร ทำให้ต้องควักทุนที่มีอยู่มาใช้ ซึ่งทุนนี้ก็ฝากไว้ที่เอสวีบี อันเป็นธนาคารที่เปรียบดังศูนย์กลางจักรวาลของสตาร์ทอัพไฮเทค
ดังนั้นลูกค้าของเอสวีบีจึงเริ่มถอนเงินฝากเอาไปใช้ ซึ่งตอนแรกยังไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ถอนไปถอนมามากๆ เข้า เอสวีบีต้องเริ่มนำสินทรัพย์ตัวเองออกขายเพื่อหาเงินสดมาให้ลูกค้า

เอสวีบีขายพอร์ตพันธบัตรแบบขาดทุน
ลูกค้าส่วนใหญ่ของเอสวีบีเป็นภาคธุรกิจและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งวิตกเรื่องธนาคารล้มละลายมากเป็นพิเศษ เพราะฝากเงินไว้สูงกว่า 250,000 ดอลลาร์ อันเป็นเพดานที่รัฐบาลสหรัฐให้การคุ้มครองเงินฝากต่อผู้ฝาก 1 ราย
เมื่อมีผู้ถอนเงินมากๆ เอสวีบีก็ต้องนำพันธบัตรออกขายในราคาที่ขาดทุน จนไปต่อไม่ไหวในที่สุด แม้เอสวีบีพยายามระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนภายนอก แต่ไม่สามารถหาได้
แห่ถอนจนไปต่อไม่ไหว
ธนาคารที่มีแต่บรรดาลูกค้าไฮเทคสมัยใหม่อย่างเอสวีบี จบลงด้วยปัญหาคลาสสิกในภาคธนาคาร นั่นคือถูกแห่ถอนเงิน จนผู้ดูแลกฎระเบียบภาคธนาคารของสหรัฐไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเข้าดูแลกิจการ ด้วยการยึดสินทรัพย์เพื่อปกป้องทรัพย์สินและเงินฝากที่ยังเหลืออยู่
จับตาผลกระทบ
แม้เอสวีบีเป็นธนาคารขนาดกลาง แต่แทบจะให้บริการแค่กับอุตสาหกรรมไฮเทคและเวนเจอร์แคปิตอล อันเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารรายอื่นมีความหลากหลายมากกว่าเพราะปล่อยกู้และทำธุรกิจกับบริษัทในหลากหลายภาคอุตสาหกรรรม รวมถึงฐานลูกค้าก็หลากหลายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบเป็นลูกคลื่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคสตาร์ทอัพไฮเทคของสหรัฐ หากยังไม่สามารถถอนเงินจากเอสวีบีได้ภายในเร็ววันนี้
นอกจากนั้น หลายประเทศยังวิตกเกี่ยวกับผลกระทบ โดยสาขาของเอสยูวีในอังกฤษได้ยุติการซื้อขายแล้วและไม่รับลูกค้าใหม่ พร้อมเตรียมประกาศล้มละลาย ขณะที่ผู้นำบริษัทไฮเทคกว่าร้อยแห่งส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีคลังอังกฤษให้เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ โดยอ้างเหตุผลว่าการสูญเสียเงินฝากอาจส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นในภาคไฮเทคและทำให้ระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมนี้ถอยหลังไป 20 ปี ทั้งยังจะกระเทือนไปถึงหลายธุรกิจที่อาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง