ทำไมต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งๆ ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังหนักในหลายประเทศ
หากต้องการคำตอบต้องไปดูที่ความสำคัญของภาคท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดจนนำไปสู่มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ ส่งผลอย่างไร
ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างมาก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจจึงค่อนข้างสูง เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมาก จากรายได้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 18.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
รายได้จากการท่องเที่ยว แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11.9% และจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 6.7% ของจีดีพี
จากความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงนี้เอง จำเป็นต้องหาคำตอบว่าทำไมรัฐบาลเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและแรงงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะทางอากาศ และธุรกิจนำเที่ยว
“แม้ว่าธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปได้”
แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว 5 ครั้ง อีกทั้งผ่อนคลายให้ต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ภาคท่องเที่ยวยังไม่กระเตื้องมากนัก เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูง
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยใช้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของทางการ และ High Frequency Data พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ในภาพรวมยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนการล็อกดาวน์อยู่มาก และยังมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อความเสี่ยงของการระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19
“ภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในภาวะซบเซา แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์”
EIC ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปยังไม่กลับมา สาเหตุสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับไปจุดเดิมได้ก็คือ การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสร้างรายได้ถึง 60.3% ของรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562
การหันมาพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยทดแทนยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพมากนัก แม้จะมีการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าปริมาณการท่องเที่ยวโดยคนไทยยังต่ำกว่าเดิมอยู่พอสมควร สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยในเดือน ก.ค. 2563 ที่มีการเพิ่มขึ้นมาบางส่วนจากช่วงมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับในปีก่อนหน้าถึง 27.1% แม้จะมีช่วงวันหยุดยาวเพิ่มเติมเข้ามาช่วยในปีนี้
เมื่อคิดจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยก็ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน ก.พ. ถึง 13.8%
รายจ่ายของนักท่องเที่ยวนับว่ามีความสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยใช้จ่ายต่อคนน้อยกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่มาก
จากข้อมูลปี 2561 รายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวไทยถึง 2.1 เท่า และสูงกว่าในทุกหมวดการใช้จ่ายโดยเฉพาะหมวดที่พัก
ค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 2,866 บาท/คน/วัน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายอยู่ที่ 6,039 บาท/คน/วัน
ดังนั้น การจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวด้วยการใช้จ่ายของคนไทยเพียงกลุ่มเดียวอาจต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มากกว่าเดิมมาก หรือต้องเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนจากเดิมอีกมาก ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
จากข้อมูลข้างต้นช่วยตอบคำถามว่าทำไมรัฐบาลพยายามเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะเป็นการเปิดอย่างจำกัดพื้นที่ ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด
ขณะนี้คนในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวอาจใช้เวลานาน 3-5 ปี กว่าจะฟื้นตัวกลับมาเช่นเดิม แต่กว่าจะถึงวันนั้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจ “ล่มสลาย” ก่อนจะฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุคที่เรียกว่า “New Normal”