ภายหลังการยุติการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ของแบรนด์ ‘เชฟโรเลต’ ในประเทศไทย จากนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทยจนกระทั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการใดๆ จากเชฟโรเลตนับตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งล่าสุดผู้บริหารแบรนด์ดังกล่าวได้มีการแถลงทิศทางธุรกิจของเชฟโรเลตในประเทศไทย นับจากนี้ไปอย่างเป็นทางการ
วันชนะ อูนากูล ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายบริการหลังการขายและตลาดส่งออก บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางธุรกิจของแบรนด์ในประเทศไทยนับจากนี้ ว่า ภายในสิ้นปี 2563 นี้ ผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) จะสิ้นสุดการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตทั้งหมดทุกสาขา โดยปัจจุบันมีสต๊อกรถยนต์เชฟโรเลตที่ยังคงเหลืออยู่จำนวนราว 100 คัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเคลียร์สต๊อกได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี
ทั้งนี้ ศูนย์จำหน่ายและบริการปัจจุบันของเชฟโรเลตมีจำนวน 86 แห่งทั่วประเทศ ได้มีการเซ็นสัญญาการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปสู่การให้บริการหลังการขายเต็มรูปแบบเพียงอย่างเดียวภายใต้ชื่อ Authorized Service Outlet (ASO) ในทุกสาขา
พร้อมกันนี้ ล่าสุดได้มีการแต่งตั้งผู้แทนให้บริการหลังการขาย ASO เพิ่มขึ้น 2 แห่ง ที่ จ.ลำปาง และ จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลให้ศูนย์บริการหลังการขายของเชฟโรเลตหลังจากนี้จะมีจำนวน 88 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนั้น ยังเปิดทางเลือกในการให้บริการสำหรับผู้แทนให้บริการอีกด้านหนึ่งคือ การเป็นตัวแทนให้บริการหลังการขายซ่อมบำรุงรถยนต์ทุกแบรนด์ทุกยี่ห้อและการจำหน่ายอะไหล่ ภายใต้แบรนด์ เอซีเดลโก (ACDelco)
“ศูนย์บริการหลังการขายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ โดยมีผู้สนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในส่วนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถยนต์เชฟโรเลตสะสมราว 4 แสนคัน บนถนนในประเทศไทย”
สำหรับการลงทุนเบื้องต้นของทั้ง 2 รูปแบบ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนราว 3-4 ล้านบาท ซึ่งมีช่องซ่อมขั้นต่ำ 4 ช่องซ่อม และใช้ระยะเวลาคืนทุนภายใน 1 ปี เนื่องจากมองว่าธุรกิจด้านการให้บริการหลังการขายและการบริการซ่อมบำรุงรถยนต์เป็นสัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจรถยนต์ และถึงแม้จะไม่มีธุรกิจขายรถยนต์ก็เชื่อว่ายังมีผู้สนใจในการลงทุนธุรกิจดังกล่าวและเข้าสู่ธุรกิจในวงการยานยนต์อีกมาก
นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์ปัญหาและช่วยแก้ไขปัญหาสำหรับช่างเทคนิคในศูนย์บริการผ่านทางไกลอีกด้วย และการพัฒนาบุคลากรด้วยการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ล่าสุดเชฟโรเลตได้มีการขยายพื้นที่เช่าคลังสินค้า (Warehouse) จากเดิมที่มีพื้นที่รวม 1.75 หมื่นตร.ม. โดยมีจำนวนอะไหล่กว่า 2.69 หมื่นรายการ เพิ่มเป็น 2.95 หมื่นตร.ม. ซึ่งส่งผลให้มูลค่าอะไหล่ในคลังสินค้าเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวจากปี 2561 หรือมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและเป็นการยืนยันสร้างความมั่นใจว่าเชฟโรเลตจะยังคงให้บริการหลังการขายดูแลลูกค้าในประเทศไทย และส่งออกอะไหล่ไปยังคู่ค้าในต่างประเทศ
“กลยุทธ์หลักของ เชฟโรเลต หลังจากนี้ มุ่งเน้นการดูแลให้บริการลูกค้าเป็นหลักและวางแผนธุรกิจเพื่อทำให้ผู้ลงทุนสามารถอยู่รอดได้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เชฟโรเลตประกาศยุติจำหน่ายรถยนต์ในไทย