คงคาใจและมีข้อสงสัยกันสิว่า ทำไม ทำไม ทำไม เมอร์เซเดส-เบนซ์ นั้น ถึงตัดสินใจยกเลิกการทำตลาด Mercedes-Benz EQC ในประเทศไทย มีปัญหากับ บีโอไอ จริงหรือ !?! แล้วการไม่เข้าร่วมงาน Motor Show แท้จริงมีสาเหตุอะไร รวมถึงการตัดสินใจเปิดโครงการ “Charge to Change” ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่ เคลียร์ชัดทุกคำตอบ
โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส–เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงประเด็นที่ เมอร์ซเดส–เบนซ์ ตัดสินใจยกเลิกการขายรถยนต์ไฟฟ้า เมอร์เซเดส–เบนซ์ อีคิวซี ด้วยสาเหตุโควตาการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ได้เพียง 50 คัน จากที่ขออนุมัติต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไป 250 คัน ในช่วงทดลองตลาดก่อนการเปิดตัว ว่า บริษัทขอยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวไม่มีผลต่อการตัดสินใจยกเลิกขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวในประเทศไทย เพราะบริษัทได้ตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของบีโอไอตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 แล้ว
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งทำให้บริษัทมีความกังวลว่างบประมาณการลงทุนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในการนำงบประมาณในโครงการดังกล่าวไปใช้ลงทุนแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขก่อน
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงความพร้อมของสถานีชาร์จไฟฟ้าของทุกภาคส่วนในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีจำนวนทั่วประเทศราว 800-900 แห่ง จึงมองว่าเป็นสถานการณ์ความเสี่ยงซ้อนความเสี่ยงสำหรับการเปิดตัวในประเทศไทย
“ยืนยันว่า เมอร์เซเดส–เบนซ์ อีคิวซี (Mercedes-Benz EQC) ไม่เข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอนโดยเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากครั้งหนึ่งของเรา”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เบนซ์ยันนำเข้า ‘อีคิวซี’ เปิดตัวปีนี้ เล็งขึ้นไลน์ประกอบในไทยปี’64
ทำไมถึงไม่เปลี่ยนเป็น ‘เลื่อน’ แทนที่จะ ‘ยกเลิก’ ?
ประเด็นนี้ โฟล์เกอร์ กล่าวว่า รถยนต์ทุกคันมีอายุของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเลื่อนออกไปบนสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้นั้น อาจจะทำให้ในช่วงที่เปิดตัวนั้น กลายเป็นช่วงกลายอายุของผลิตภัณฑ์ไปแล้ว ดังนั้นในแง่การพิจารณาจึงมองว่า เหตุผลทางด้านโอกาสทางธุรกิจในการนำเข้ามาทำตลาดเมื่อเทียบกันแล้ว การยกเลิกการทำตลาดในรุ่นนี้ แล้วมองหาโอกาสในรุ่นอื่นมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การลงทุนโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส–เบนซ์ ในประเทศไทยนั้น ยังคงเป็นไปตามแผนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของ เมอร์เซเดส–เบนซ์
เมื่อไรประเทศไทยจะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าของ เมอร์เซเดส–เบนซ์ ?
บริษัทมีแผนการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นถัดไปในประเทศไทยภายในปี 2021 ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความพร้อมหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่จะเป็นรุ่นใดนั้นยังไม่สามารถระบุได้
ความกังวลของ เมอร์เซเดส–เบนซ์ ขณะนี้คืออะไร ?
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่มีใครสามารถคาดเดาสถานการณ์ดังกล่าวได้ แม้กระทั่งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดในช่วงแรกไปได้ยังมีการระบาดซ้ำอีกรอบ ส่วนทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทย แน่นอนว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน แต่หากจะกล่าวถึงการฟื้นตัวจริงๆ คงจะต้องใช้เวลาราว 2-3 ปีจากนี้
เมอร์เซเดส–เบนซ์ ปรับแผนธุรกิจอย่างไร ?
สิ่งที่เราได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือการทำให้ประชาชน–ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอิน–ไฮบริด ตื่นรู้ ตระหนักรู้ ว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยโลกได้และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าตัวเองได้ เหมือนเช่นการตระหนักในการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19
ดังนั้น ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้ามาลงทุนและทำตลาดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จึงได้กลับมาคิดทบทวนว่าจะมีทางใดที่เรายังสามารถใช้รถยนต์ต่อไป แต่ช่วยให้อากาศสะอาดขึ้นได้บ้าง ซึ่ง EQ Power หรือรถยนต์รุ่น ปลั๊ก–อิน ไฮบริด นั้นสามารถมอบการเดินทางที่ปราศจากมลพิษให้กับผู้ขับขี่ได้ แต่การจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในวงกว้างนั้นต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้ใช้รถยนต์ทุกคน
จึงได้เปิดตัวโครงการ “Charge to Change” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งผู้ใช้ เมอร์เซเดส–เบนซ์ และผู้ใช้รถยนต์แบรนด์อื่นๆ ตระหนักว่า คุณสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้นได้ พร้อมทั้งลดปัญหา PM 2.5 ได้ เพียงหันมาชาร์จรถยนต์ของคุณให้บ่อยขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ร่วมมือกันขับคลื่อนเพื่อผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็นฮับของการเดินทางโดยรถยนต์พลังงานสะอาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตด้วย
โครงการ “Charge to Change” แบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่
เฟส 1 การกระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
เมอร์เซเดส–เบนซ์พบว่า ผู้ใช้รถยนต์ EQ Power หลายท่านมักจะไม่ชาร์จพลังงานไฟฟ้า ด้วยสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ
- ไม่ทราบว่ารถยนต์ของตัวเองชาร์จได้
- ไม่ทราบว่าจะชาร์จได้ที่ไหนบ้าง
- ไม่สนใจที่จะชาร์จ เพราะเติมน้ำมันแล้วขับด้วยน้ำมันสะดวกกว่า
เมอร์เซเดส–เบนซ์ จึงมุ่งสร้างความตระหนักรู้ ทั้งผ่านวิดีโอออนไลน์และการร่วมมือกับบุคคลชั้นนำในวงการต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์รับรู้ว่า เพียงแค่ขับขี่ด้วยโหมดการขับขี่ไฟฟ้าในทุกวัน คุณก็สามารถมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ทันทีในทุกการขับขี่ และไม่จำเป็นต้องเป็นรถยนต์ของเมอร์เซเดส–เบนซ์เท่านั้น แต่ผู้ใช้รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอินจากแบรนด์ใดก็สามารถมีส่วนช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้นได้เช่นกัน
เฟสที่ 2 การสร้างเครือข่ายการชาร์จที่มีความพร้อมและสะดวกมากขึ้นสำหรับผู้ใช้รถ
เมอร์เซเดส–เบนซ์จะร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายวงการเพื่อขยายเครือข่ายการชาร์จ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ เพื่อทำให้ประสบการณ์ในการชาร์จพลังงานไฟฟ้าเป็นประสบการณ์ที่ทั้งสะดวกและเข้าถึงง่ายที่สุดสำหรับผู้ใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด โดยเมอร์เซเดส–เบนซ์จะเริ่มต้นด้วยการมอบ Wallbox สำหรับการชาร์จไฟฟ้าจำนวน 100 ชุดให้กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง
เฟสที่ 3 สู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
เมอร์เซเดส–เบนซ์มุ่งหวังให้โครงการนี้มีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ของการขับขี่ด้วยพลังงานสะอาด ลดปัญหามลภาวะทางอากาศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว
โฟล์เกอร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาว 3-5 ปีซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถยนต์ ปลั๊ก–อิน ไฮบริด และ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะแบรนด์ เมอร์เซเดส–เบนซ์ เท่านั้น แต่เราพร้อมเปิดกว้างให้ทุกแบรนด์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง
ทำไมโครงการ Charge to Change ถึงเกิดขึ้นเวลานี้ แล้วทำไมไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ?
โครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นแผนงานตามช่วงเวลาที่วางเอาไว้ควบคู่กับการเปิดตัว เมอร์เซเดส–เบนซ์ อีคิวซี มาตั้งแต่ต้น แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวได้ถูกยกเลิกการเปิดตัวในประเทศไทยไปเสียก่อน ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวขึ้น ซึ่งบริษัทยืนยันว่าได้มีการวางแผนมาแล้วล่วงหน้าสำหรับโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
การไม่เข้าร่วมงาน Bangkok International Motor Show ในปีนี้จะเสียโอกาสทางธุรกิจหรือไม่ ?
การไม่เข้าร่วมงานดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องการเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่ เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่เข้าร่วมงานจัดแสดงรถยนต์ซึ่ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในระดับโลก ก็ไม่ได้เข้าร่วมงานระดับโลกอย่าง เจนิวา มอเตอร์โชว์ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้สนับสนุนผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วประเทศ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ศูนย์จำหน่ายและบริการทั่วประเทศ (Event Showroom) ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2653 เป็นต้นไป ภายใต้เงื่อนไขด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดตามที่รัฐบาลกำหนด พร้อมกันนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ยังได้สนับสนุนทั้งในด้าน Software และ Hardware ให้กับดีลเลอร์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ลองเริ่มที่จะเสียบปลั๊กใน EQ Power ก่อนที่จะรู้จักตัวตนของรถยนต์ไฟฟ้า EQC