HomeBusinessถอดนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต จ่ายครั้งเดียว 10,000 บาท ไม่มีแบ่ง!

ถอดนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต จ่ายครั้งเดียว 10,000 บาท ไม่มีแบ่ง!

หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในรัฐบาลชุดใหม่ “ครม.เศรษฐา 1” โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ควบรมว.คลัง ได้ถูกแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังถูกจับจ้องไปที่นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้

นายเศรษฐา นายกฯคนใหม่ ได้ยืนยันว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะจ่ายในครั้งเดียว ไม่มีแบ่งจ่าย และจะเริ่มได้ในช่วงต้นปี 2567 โดยหวังเป็นการสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคและการลงทุนทั่วประเทศ

ในเรื่องนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ได้ออกมาประเมินนโยบาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่หากเลือกกลุ่มที่จะช่วยเป็นแบบเฉพาะที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ต้องการจริง จะเหมาะสมและจะช่วยได้มากกว่า

- Advertisement -

ทางด้านแบงก์ชาติ “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุว่า เป็นเรื่องที่มองไปข้างหน้า ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนมา เราก็เตรียมการว่าเม็ดเงินจะลงสู่เศรษฐกิจเท่าไหร่ จริงๆ ต้องดูที่ภาพใหญ่ แต่ถ้าเราดูแค่เฉพาะเม็ดเงินนโยบายเงินดิจิทัล ถ้าดูจากตัวเลขเบื้องต้น ประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็น ประมาณ 3% ของ GDP

ฉะนั้นในแง่ผลดีของเศรษฐกิจ ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเราว่าเงินจะหมุนกี่รอบ ถ้าหมุนหนึ่งรอบก็คือ 3% ของ GDP (หมายถึงถ้ามีการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ทั้งก้อน เงินในระบบก็จะเพิ่ม 3% ของ GDP) แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเงินโอนก็จะหมุนน้อยกว่านั้น อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่ง แน่นอนว่าจะกระทบกับประมาณการในแง่ของ GDP และเงินเฟ้อ แต่ต้องเรียนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ยังไม่ได้ใส่เข้าไปใน Baseline ยังอยู่ในแง่ของความเสี่ยงอยู่

“บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบหรือออกใช้อย่างไร ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายพ.ร.บ.เงินตรา มองว่าเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา เกิดคำถามว่าจะทันช่วงต้นปี 67 เหมือนกับที่นายเศรษฐา ระบุไว้หรือไม่ เพราะถึงแม้ระบบจะทำได้ทัน แต่ร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลจะทำได้ทันหรือไม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินสดก็จะง่ายกว่า

ซึ่งการแจกเงินนั้นยอมรับว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก เหมือนกับโครงการคนละครึ่งที่ในช่วงที่ผ่านมาช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เงินดิจิทัลที่จะนำมาแจกในครั้งนี้ จะนำมาจากแหล่งใด และการแจกเงินให้ตั้งแต่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป จะเป็นภาระทางการคลังเพิ่มมากขึ้น จากหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพี มองว่าหากแจกให้กับคนตามกลุ่มเป้าหมายจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะถ้าให้เงินกับคนที่ต้องการจริงก็จะช่วยได้มากขึ้น

ด้าน “อาริส ดาคาเนย์” นักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคาร HSBC มองว่า ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายแจกเงินสดและเงินอุดหนุนในลักษณะใกล้เคียงกันช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงจนสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบกับเสถียรภาพทางการคลังและนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยพรรคเพื่อไทยนั้น แคมเปญหลักที่ให้สัญญาไว้คือแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมูลค่า 3.1% ของจีดีพี และยังมีนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เพิ่มรายได้ของเกษตรกร 3 เท่าและประกันรายได้ครัวเรือน 20,000 บาทต่อเดือน

“จากคำมั่นสัญญาเหล่านี้ คาดว่าการขาดดุลทางการคลังในปีงบประมาณ 67 จะอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี หรือ 8.4 แสนล้านบาท ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดที่แล้วได้จัดสรรงบประมาณเอาไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์การขาดดุลที่ 6 แสนล้านบาท หรือ 3% ของจีดีพี การเพิ่มขึ้นของการขาดดุล มาจากค่าใช้จ่ายในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่เพิ่มเข้ามา คาดว่าเพื่อให้จัดสรรงบประมาณได้อย่างเพียงพอ อาจจะมียกเลิกนโยบายสวัสดิการอื่นๆ เช่น เงินอุดหนุนรายเดือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 300 บาท เบี้ยผู้สูงอายุรายเดือน และเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซล”

แม้ความคืบหน้าล่าสุดจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ระบุรูปแบบการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทออกมาแล้วว่า ไม่ใช่เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC แบบที่แบงก์ชาติกำลังศึกษาและทดลองอยู่ในเวลานี้ แต่จะเป็นดิจิทัลโทเคน เป็นประเภท ยูทิลิตี้ โทเคน ซึ่งถูกสร้างด้วยระบบบล็อกเชน และจะจ่ายครั้งเดียว ไม่มีแบ่งจ่าย ทำให้ต้องจับตาดูรูปแบบจริงๆว่าจะสามารถทำออกมาไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์แบงก์ชาติได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เงินดิจิทัลวอลเล็ต เข้าข่ายเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News