หายหน้าหายตาต่อการออกมาพูดคุยต่อสาธารณะไปนานกว่า 1 ปี สำหรับ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านช่องทางทีวีและออนไลน์ เนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในปี 2563
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างองค์กรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนการดำเนินงานสำคัญได้แก่
1. ธุรกิจ B2C โดยบริษัท ได้มีการควบรวมกิจการระหว่าง ทีวี ไดเร็ค กับ ทีวีดี โมโม่ โดยจะมีการปรับโมเดลธุรกิจจาก ทีวี โฮมช้อปปิ้ง ไปสู่การรุกธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ มากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัท โมโม่ ดอทคอม จำกัด (MOMO) ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมช้อปปิ้งและอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากประเทศ ไต้หวัน
2. ธุรกิจ B2B โดยบริษัท ได้มีการควบรวมกิจการกับบริษัทลูกทั้ง 7 บริษัท ซึ่งได้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ บริษัท เอบีพีโอ จำกัด มุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการ (Service Providers) ประกอบไปด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ Contact Center, Technology Service Provider, Fulfillment & Logistics และ Direct Response Agency
ทั้งนี้ ศักยภาพของประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 57 ล้านราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไต้หวันที่มีอยู่เพียง 27 ล้านราย อีกทั้งประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึงประเทศไทยมีความพร้อมในด้านอีโคซิสเท็มทั้งระบบ
สำหรับแผนในปี 2564 ทีวี ไดเร็ค จะมีการ Reinvent จากธุรกิจ ทีวี โฮมช้อปปิ้ง สู่ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก อี-คอมเมิร์ซ เป็น 1 ใน 3 ของรายได้ในปีนี้ และภายใน 5 ปี จะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้ และในปี 2565 จะมีการเพิ่มสินค้าขึ้นเป็น 4 หมื่น รายการ (SKU) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,000-7,000 SKU
“ที่ผ่านมาเราเป็น ทีวี โฮมช้อปปิ้ง แต่ปีนี้ จะเป็น อี-คอมเมิร์ซ มากยิ่งขึ้น และเราอาจจะต้องกลับไปสู่การเป็น สตาร์ท อัพ เพื่อไปสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ”
นายทรงพล กล่าวว่า แผนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กลยุทธ์ “Harmonized Channel” โดยใช้ช่องทางการขายต่าง ๆ ของบริษัท ได้แก่ ทีวี โฮมช้อปปิ้ง, คอลเซ็นเตอร์, ร้านค้าปลีก TVD Shop และ อี-คอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มยอดขายจากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังได้วางแผนรีโพซิชั่นนิ่งธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งครั้งใหญ่ จากปัจจุบันมีทีวีดาวเทียมทั้งหมด 28 ช่อง โดยวางตำแหน่งทางการตลาดของแต่ละช่องใหม่เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มสินค้าราคาย่อมเยา
- กลุ่มสินค้าจับตลาดกลาง-บน
- กลุ่มสินค้าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกาย
- กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
- กลุ่มสินค้าสำหรับตลาดแมสในราคาเข้าถึงได้ เสมือนยกธุรกิจค้าปลีกมาอยู่ใน ทีวีโฮมช้อปปิ้ง
- กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม
ขณะที่ เป้าหมายปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้จากออนไลน์อยู่ที่ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 14% ซึ่งเป้าหมายระยะยาว 3 ปี จากนี้ (2565-2567) คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และมีสัดส่วนระหว่าง อี-คอมเมิร์ซ กับ ทีวี โฮมช้อปปิ้ง อยู่ที่ 50-50% ด้านผลการดำเนินงานปี 2563 ของบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3,736 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 4,280 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ภาพรวมตลาด ทีวี โฮมช้อปปิ้ง มีมูลค่าอยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโตลดลงอยู่ที่ 10% จากปกติอยู่ที่ 20-30% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคดูทีวีเพิ่มขึ้น