ในที่สุดสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐก็เข้าควบคุมธนาคารเฟิร์ส รีพับลิก แบงก์ และขายเงินฝากทั้งหมด รวมถึงสินทรัพย์ส่วนใหญ่ ให้แก่ธนาคารเจพีมอร์แกนเชส หวังสกัดความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐไม่ให้บานปลาย
เฟิร์ส รีพับลิก ซึ่งมีฐานในนครซานฟรานซิสโก นับเป็นธนาคารขนาดกลางรายที่ 3 ที่ไปต่อไม่ไหวในรอบ 2 เดือน และถือเป็นการล้มของธนาคารครั้งใหญ่อันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐ รองจากวอชิงตันมูชวล ซึ่งล่มสลายไปในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 โดยในครั้งนั้นเจพีมอร์แกนเชสก็ได้เข้าไปซื้อธนาคารวอชิงตันมูชวล
เฟิร์ส รีพับลิก ตกที่นั่งลำบากตั้งแต่เดือนมี.ค. เมื่อซิลิคอนวัลเลย์แบงก์กับซิกเนเจอร์แบงก์เกิดล่มสลาย จนทำให้นักลงทุนและผู้ฝากเงินหันมามองเฟิร์สรีพับลิกด้วยสายตาวิตกมากขึ้นว่าอาจไม่รอด เนื่องจากมีเงินฝากที่ไม่ได้รับคุ้มครองในปริมาณสูง ประกอบกับปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ
การเข้าควบคุมกิจการและให้เจพีมอร์แกนเชสเข้ามาซื้อ มีขึ้นหลังจากผู้ดูแลกฎระเบียบหาทางออกตลอดสุดสัปดาห์ ก่อนตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดทั่วโลกเปิดทำการ เพราะส่วนใหญ่ปิดเนื่องในวันแรงงาน
เจมี ไดมอน ประธานและซีอีโอเจพีมอร์แกนเชส ระบุว่ารัฐบาลเชิญเจพีมอร์แกนเชสให้เข้ามาในครั้งนี้ ซึ่งทางธนาคารก็ได้ทำตามนั้น
ทั้งนี้ นับถึงวันที่ 13 เม.ย. เฟิร์ส รีพับลิก มีสินทรัพย์รวมประมาณ 229,000 ล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 104,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นับถึงปลายปีที่แล้วเฟิร์ส รีพับลิก เป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อันดับที่ 14 ของสหรัฐ
ก่อนพบจุดจบ เฟิร์ส รีพับลิกเป็นที่อิจฉาของคนแวดวงเดียวกัน ความที่ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะดีและมีอิทธิพล แทบไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย ทางธนาคารมีรายได้จำนวนหนึ่งมากจากการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่คนรวย ซึ่งรายงานข่าวระบุว่ารวมถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเมตา แพลทฟอร์มส์
ปริมาณเงินฝากที่ล้นเหลือจากบรรดาผู้มีฐานะ ทำให้สินทรัพย์ของเฟิร์ส รีพับลิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 แต่เงินฝากจำนวนมากมีสภาพเหมือนซิลิคอน วัลเลย์ กับซิกเนเจอร์ แบงก์ นั่นคือไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะสูงกว่า 250,000 ดอลลาร์ สิ่งนี้สร้างความวิตกว่าหากเฟิร์ส รีพับลิกเป็นอะไรไป ผู้ฝากเงินอาจไม่ได้เงินคืน
ในการรายงานผลประกอบการของทางธนาคาร ได้มีการระบุว่าผู้ฝากเงินถอนเงินออกไปมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนมี.ค. หลังจากนั้นผู้บริหารของธนาคารก็ไม่ตอบคำถามของนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ ทำให้หุ้นของธนาคารร่วงลงต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการยากที่จะปรับโครงสร้างงบดุลให้กลับมาทำกำไร ในยามที่บริษัทใดก็ตามต้องขายสินทรัพย์ภายในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมยกตัวอย่างแบงก์ออฟอเมริกาว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาทำกำไร หลังจากเผชิญวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว