“ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ” ได้สำรวจและเปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) โดยความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนก.พ.และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอจากราคาสินค้าและแนวโน้มต้นทุนหลายรายการที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่มาตรการช้อปดีมีคืนช่วยกระตุ้นยอดขายได้ค่อนข้างจำกัด สำหรับการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวคาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจการค้าในระยะต่อไป
แม้ว่าดัชนี RSI เดือนก.พ.และ RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง แต่ยังอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มีมุมมองต่อกิจกรรมในภาคการค้าปลีกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อน อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ของผู้ใช้บริการ ปรับลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และถูกกดดันด้วยราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังกังวลต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมของทุกภูมิภาคปรับลดลง อย่างไรก็ดีร้านค้าที่อยู่ใกล้พื้นที่ท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ขณะที่ผลของมาตรการช้อปดีมีคืนโดยรวมแล้วช่วยกระตุ้นยอดขายได้บ้าง โดยส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในร้านค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะปรับเพิ่มขึ้น และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ
“ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากยังคงเจอกับราคาสินค้าที่อยู่ระดับสูง ทำให้การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนจากพฤติกรรมที่เลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น และยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นราคาของหลายสินค้าที่จะเกิดขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า”
ทั้งนี้การฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก จากการสำรวจของธปท.เพิ่มเติม พบว่า รายจ่ายจากนักท่องเที่ยวจีนคาดว่าจะกระตุ้นยอดขายในไตรมาส 1 ได้ไม่เกิน 10% และผู้ประกอบการระบุว่า มาตรการช้อปดีมีคืน ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ 10% และส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้า Non-Food โดยธุรกิจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น มี 63% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน จาก 56% ในเดือนก่อน