อีลอน มัสก์ เสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์ ด้วยมูลค่า 44,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) เมื่อ 27 ต.ค. 2565 ท่ามกลางความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่าดีลนี้จ่ายแพงเกินไป เนื่องจากมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีจำนวนมากเริ่มลดลง และทวิตเตอร์ก็อยู่ในช่วงพยายามดิ้นรนเพื่อดึงดูดผู้ใช้และเพิ่มความเติบโตในฐานะเครือข่ายสังคมออนไลน์และบริการไมโครบล็อกสำหรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ ผ่านทางเว็บหรือบนอุปกรณ์มือถือ
อีลอน มัสก์ ยอมรับว่าเขาลงทุนในทวิตเตอร์เพราะว่าเชื่อในศักยภาพในการเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ “Free Speech” หรือ เสรีภาพในการพูดแก่คนทั่วโลก โดยเชื่อว่าเสรีภาพในการพูด เป็นสิ่งจำเป็นทางสังคมที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไป กระนั้นก็ตาม ผลประกอบการมีความจำเป็นสำหรับความอยู่รอด มัสก์ดำเนินการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ ปรับลดพนักงานในแต่ละแผนกและลดค่าใช้จ่ายในบริษัท จากพนักงานประมาณ 2,300 คน ลดลงสู่ระดับประมาณ 1,300 คน ซึ่งรวมถึงวิศวกรที่เป็นพนักงานประจำจำนวนน้อยกว่า 550 คน
กระนั้นก็ตาม ข้อมูลจาก Standard Media Index (SMI) บ่งชี้ว่า การใช้จ่ายด้านการโฆษณาบนทวิตเตอร์ดิ่งลง 71% ในเดือนธ.ค. 2565 เนื่องจากบรรดาผู้โฆษณารายใหญ่แห่ถอนตัวจากแพลตฟอร์ม หลังมัสก์ เข้าซื้อกิจการ แม้ทวิตเตอร์จะพยายามแก้ปัญหาการแห่ถอนโฆษณาด้วยการนำเสนอโครงการริเริ่มมากมายเพื่อเอาชนะใจผู้ลงโฆษณา ทั้งการเสนอโฆษณาฟรีบางส่วน ยกเลิกข้อจำกัดการห้ามโฆษณาทางการเมือง และเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามากำหนดตำแหน่งโฆษณาของตนเองได้มากขึ้น แต่รายได้จากการโฆษณายังคงไม่กระเตื้อง
นำมาสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจใหม่ของมัสก์ ประกาศนำพาทวิตเตอร์ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงโซเชียลมีเดีย แต่เป็น SuperApp หรือ Everyday App หมายถึงแอปพลิเคชั่นที่ครอบคลุมทุกบริการ รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์มากมายที่สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่างภายในแอปเดียว โดยไม่ต้องออกจากแอปไปใช้บริการแอปอื่น เช่น จ่ายบิล ซื้อของ สั่งอาหาร ฯลฯ แม้กระทั่งการโอนเงินในรูปแบบธนาคารออนไลน์ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ครบจบในแอปเดียว ไม่ใช่แค่สกุลเงินปกติ แต่มีแผนรองรับสกุลเงินดิจิทัลในอนาคต เป็น Decentralization รองรับการใช้งาน Web3 บริการแห่งอนาคต
ทวิตเตอร์จะบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของมัสก์ กลายเป็น SuperApp และ ธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบหรือไม่ เวลาคือเครื่องพิสูจน์