รัฐบาลหนุน ‘ธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า’ ส่งเสริมไทยเป็นผู้นำผลิต EV โลก
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและครบวงจร โดยธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปี 2565

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดราว 7.1% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.7% ในส่วนของการเติบโตมูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้านั้น Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท
บสย. ร่วมงาน ‘Plant Based Festival 2023’ พร้อมค้ำสตาร์ทอัพตั้งต้นธุรกิจ-ต่อยอดลงทุน
นายกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ SMEs Thailand ผู้จัดงาน “Plant Based Festival 2023” มหกรรมอาหารเพื่ออนาคต ระหว่าง 1-3 กันยายน 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ภายใต้แนวคิด “บสย. พร้อมค้ำฯ นวัตกรรมอาหาร ปั้น Start up Plant Based สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่” เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่สนใจลงทุนในกลุ่มนวัตกรรมอาหาร Plant Based ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการตั้งต้น กลุ่มที่ต้องการขยายธุรกิจ แต่ยังขาดเงินทุน และต้องการที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับแผนและกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง

ภายในงาน บสย. ได้เตรียมนำผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ จากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง (PGS 10) สำหรับกลุ่ม Start up วงเงินค้ำฯ ตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท พร้อมแคมเปญ โดนใจ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำ 2 ปี ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง โดยรัฐบาลช่วยออกให้ และ ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันกลุ่ม Small Biz สำหรับผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ที่ต้องการต่อยอดขายกิจการ ค้ำประกันตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำ 2 ปี พร้อมเปิดเวทีสร้างการรับรู้การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อนักธุรกิจตั้งต้น “บสย. พร้อมค้ำฯ นวัตกรรมอาหาร ปั้น Start Up Plant Based สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่” และกิจกรรมให้คำปรึกษาภายในบูท บสย. TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่ 1 ในใจ SMEs โดยทีมหมอหนี้ บสย. แนะนำ การลงทุน เริ่มต้นธุรกิจ บริหารทุน และบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงแหล่งทุน ลงทะเบียนปรึกษาหมอหนี้ ในงานที่ Line @tcgfirst
SME D Bank จัดโปรแกรมพัฒนา เสิร์ฟความรู้ สนับสนุนเอสเอ็มอีไทยอัพเกรดธุรกิจ
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เคียงข้างผู้ประกอบการสู่ความสำเร็จ ยกขบวนด้านการพัฒนา เพิ่มศักยภาพธุรกิจ เพิ่มช่องทางการขาย ขยายตลาด เสริมสร้างรายได้

รับกำลังซื้อผู้บริโภค จัดโปรแกรมพัฒนา พร้อมเสิร์ฟความรู้ตอบครบทุกความต้องการ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ ตลอดเดือนกันยายน 2566 ให้บริการ ฟรี! ทุกโปรแกรม สมัครร่วมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call CENTER 1357
คลังเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 80.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคการลงทุน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคเกษตรเป็นสำคัญ
ตามมาด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้อยู่ที่ระดับ 77.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคบริการ เนื่องจากมีการยกระดับท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นท่าอากาศนานาชาติเพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน อันเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตในภาคบริการ ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 77.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคเกษตรในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรจะปรับตัวขึ้น ประกอบกับการมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ
ความเชื่อมั่นอนาคตของภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 73.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากภาคบริการ อันเป็นผลมาจากการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนของภาครัฐ และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคาดการณ์อุปสงค์ในสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 72.3 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคบริการ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคการจ้างงาน อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ยังมีความกังวลต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลผลิตในอนาคต
ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 70.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรแปรรูปในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสอากาศหนาว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคตจึงชะลอแผนการขยายธุรกิจ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 69.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะเมืองรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากความพยายามของภาครัฐในการเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังกังวลต่อความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคต
สศค.เผยภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ขยายตัวได้ในทุกภูมิภาคอีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีในภาคใต้ และภาคเหนือ” โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีอีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี เช่นเดียวกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 16.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.2 และรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -20.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -26.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 73.3 และ 39.0 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี เช่นเดียวกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และ 14.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 และรายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี ขณะที่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,051.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 299.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในจังหวัดสุโขทัย เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.3 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 9.7 และ 36.4 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,763.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 58.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตและจำหน่าย ชิ้นส่วนรถยนต์ ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.1 สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 62.3 และ 118.5 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อปี ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -1.0 และ -0.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0 และรายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -15.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 และ 18.1 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -11.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อปี เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 399.1 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 27.8 และ 26.6 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 1.3 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -4.3 และ -0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -19.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,521.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 90.7 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตอุปกรณ์ระบบเครื่องปรับอากาศและสุขภัณฑ์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 39.8 และ 84.2 ต่อปี ตามลำดับ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.7 อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกร และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 0.1 ต่อปี ตามลำดับ เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 635.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 63.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิต และซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.0 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 22.1 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ