นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก 3 เดือน จากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน ส่วนอัตราจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้
“คลังหารือกับพลังงานตลอด แต่ต้องตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะวินมอเตอร์ไซด์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต่างๆ โดยยืนยันว่าไม่ได้อุดหนุนน้ำมันเบนซิน แต่จะดูแลกลุ่มน้ำมันดีเซลไปจนถึงสิ้นปี เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน”
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยล่าสุดวุฒิสภาได้ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 เรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 1 ต.ค.นี้ งบประมาณจะสามารถใช้ได้ทันที
สำหรับงบประมาณปี 66 นั้น มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.18 ล้านล้านบาท โดยเป็นการตั้งงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งขาดดุลที่ 700,000 ล้านบาท
“การตั้งงบประมาณขาดดุลลดลง สะท้อนถึงการพยายามรักษาการขาดดุลที่ลดลง หรือการทำงบประมาณที่สมดุลมากขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องมีวินัย ใช้จ่ายที่จำเป็น ควบคู่การหารายได้ โดยผ่านการขยายฐานภาษี เป็นต้น”
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทย ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ผ่านโครงการคนละครึ่ง รวมถึงการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยประมาณ 8-10 ล้านคน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยอมรับว่าจะแตะระดับสูงสุด หรือ พีคสุดในไตรมาส 3 และทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% โดยนโยบายการดูแลเงินเฟ้อนั้น น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆที่พยายามดูแลเงินเฟ้อ โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ส่งให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ส่วนในระยะต่อไปจะปรับขึ้นอีกหรือไม่จะต้องรอติดตามการประชุมในเดือนก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะเป็นการดูแลช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ทั้งมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น
ขณะที่มาตรการในระยะต่อไป จะเดินหน้าไปสู่ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ขับเคลื่อนกลไกลเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (engine of growth) โดยจะต้องดำเนินการ 5 ด้าน คือ 1.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบก ทางน้ำ ทางราง และอากาศ
2.การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีทั้งสรรพสามิต และศุลกากรแล้ว เพื่อให้ราคารถไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์ประเภทสันดาปให้มากที่สุด
3.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น สะท้อนจากที่ผ่านมามีการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
4.นโยบายการคลังจะต้องสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การสนับสนุนในเรื่องภาษี โดยเฉพาะในเรื่อง Data Center ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
5.การสนับสนุนด้านการเงินให้กับกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม