HomeBT NewsBig Data ภาครัฐที่ดีและมีประโยชน์เริ่มต้นที่ความคิด

Big Data ภาครัฐที่ดีและมีประโยชน์เริ่มต้นที่ความคิด

สิ่งที่จะก้าวขึ้นไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่นำไปสู่รัฐบาลอัจฉริยะ (Smart Government) จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งฐานข้อมูลจากประชาชน ทรัพยากรบุคคล การจัดหมวดหมู่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการกำกับดูแลข้อมูล โดยมีกฎหมายรองรับ

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ระบุว่า โดยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น อินเทอร์เน็ตประชารัฐ และโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะทำหน้าที่ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ทำให้ข้าราชการของกรมและกระทรวงต่างๆ สามารถเข้าไปดูแลในภาพเล็กเฉพาะเจาะจงของตัวเองได้

ในส่วนของทรัพยากรบุคคลก็มีหลายหน่วยงานอบรมและให้ความรู้ข้าราชการอยู่ด้วย โดยก่อนที่จะนำข้อมูลเข้าระบบก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและควรจะนำเข้าระบบ ซึ่งเมื่อข้อมูลถูกนำเข้ามาก็จำเป็นที่จะต้องมีสารบัญข้อมูลด้วยว่าหน่วยงานใดมีข้อมูลใด และใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

- Advertisement -

รศ.ดร.ธีรณี ระบุว่า การที่จะทำให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่ได้จำเป็นต้องใช้คน ซึ่งการที่จะมีนักวิเคราะห์ข้อมูลประจำอยู่ทุกกรม-กระทรวง คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและใช้งบประมาณสูง ดังนั้น สิ่งที่สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐคำนึงถึง คือ การสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษา รวมถึงทำหน้าที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันที่สถาบันรวบรวมมาได้กว่า 30 คน ในการพัฒนาส่วนนี้ โดยสำนักงานเข้าไปมีส่วนในแทบทุกส่วนของการก้าวสู่เป็นรัฐบาลอัจฉริยะ ยกเว้นกฎหมาย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อการผลักดันภาพรวมรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นรวดเดียวเป็นเรื่องที่ใหญ่และทำได้ยาก ดังนั้น การทำให้เกิดขึ้นในภาคส่วนหนึ่งของการให้บริการจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า โดยสิ่งที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันไปแล้ว คือ ภาคสาธารณสุขและการท่องเที่ยว

ผอ.สถาบันฯ ระบุอีกว่า สำหรับภาคสาธารณสุขเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการรักษาคนไข้พื้นฐานระหว่างโรงพยาบาล ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมช่วงปลายปีนี้  และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นผลช่วงเดือน ก.พ. โดยเป็นการร่วมมือกัน 35 หน่วยงาน ในการให้บริการข้อมูลสำหรับวางแผนการท่องเที่ยวให้เอกชนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้คนไทยได้ เพราะเป็นไปได้ยากที่รัฐจะพัฒนาแอปแล้วโฆษณาให้ประชาชนใช้ รวมถึงบริหารจัดการให้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐทำได้และไม่เกินขอบข่ายการดำเนินงาน คือการรวบรวมข้อมูลให้เอกชนเข้ามาใช้บริการ ซึ่งข้อมูลในการท่องเที่ยวหากเอาชื่อออก ให้เหลือเพียงอายุ เพศ และอื่นๆ จะไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องปกปิด  หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว “สงครามโลก” ในไทยไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อ “สงครามโลก” แต่หากมีข้อมูลจากภาครัฐมาประกอบก็จะสามารถทำให้แอปที่เอกชนพัฒนาสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เป้าหมายระยะยาวของสถาบันฯ ต้องการเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านข้อมูล (Intelligence Services Agency) เมื่อหน่วยงานร้องขอ โดยสถาบันก็จะให้ชุดข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้หน่วยงานนำไปใช้ได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ” รศ.ดร.ธีรณี กล่าว

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi)

ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ข้อมูล แต่เป็นคนที่ต้องปรับ

ผอ.สถาบันฯ มองว่า หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้การก้าวไปสู่รัฐบาลดิจิทัล คือ ความพร้อมของข้อมูลในแต่ละหน่วยงานที่อาจจะยังมีความถูกต้องไม่เพียงพอในแง่ของการนำไปใช้ต่อ แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าข้อมูล คือ บุคลากร มุมมอง และวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งเมื่อเราสามารถปรับมุมมองของหน่วยงานเหล่านั้นได้ ให้เห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ หน่วยงานเหล่านั้นก็จะเริ่มนำมาใช้

เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นกล้าที่จะแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่น ก็จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานเริ่มเห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ เวลาหน่วยงานเหล่านั้นวางแผนงานในปีถัดๆ ไปก็ไม่ต้องเอาแผนของปีที่แล้วมานั่งแก้ แต่เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้ เอาข้อมูลโลกมาให้ตัดสินใจก็จะสามารถเดินไปได้ถูกทาง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้หน่วยงานเหล่านี้เห็นคือการเข้าไปทำให้เขาเห็นเลย

“แม้ข้าราชการจะเดินช้า แต่บิ๊กดาต้าภาครัฐก็ไม่ได้เกิดในเวลา 5 เดือน แต่เป็นแผนระยะยาวที่ต้องดำเนินการ ซึ่งการสำเร็จเป้าหมายระยะสั้นให้เห็นผลก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต้องทำอย่างไร เราสามารถเริ่มจากการคิดการใหญ่จากสิ่งเล็กๆ ได้” รศ.ดร.ธีรณี กล่าว

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News