การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีความกังวว่าในระยะยาวไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120%
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า กรณีของประเทศเวียดนาม มีสัดส่วนหลักของการผลิตไฟฟ้ามาจากถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้อยู่เป็นหลัก ส่วนที่ปรากฏตามข่าวว่าค่าไฟฟ้าของเวียดนามลดลงนั้น เป็นผลการคำนวณเทียบกลับมาเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นายสมภพกล่าวว่า หากพิจารณาในมิติความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย ธนาคารโลก (World Bank) ได้สำรวจคุณภาพการบริการไฟฟ้าของกลุ่มอาเซียน ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง และค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง พบว่าประเทศไทยมีดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้น และดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเท่าตัว
ขณะที่ กกร. ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากแก๊สธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปรกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผง Solar Cell อุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ รวมถึงการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐได้ทบทวนสมมติฐานในการทำแผน PDP ใหม่ โดยลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้า และไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะค่าไฟฟ้าสูงเช่นนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทที่ไม่มีเชื้อเพลิง ได้แก่ ลมและแสงอาทิตย์ จะมีราคาคงที่ตลอด 25 ปี เนื่องจากต้นทุนหลักมาจากค่าก่อสร้างแค่ในครั้งแรก ดังนั้น ค่าไฟฟ้าจึงสามารถกำหนดได้ในระยะยาวและคงที่อย่างแท้จริง และในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกล ทำให้ต้นทุนการตั้งโรงไฟฟ้าทั้งลมและแสงอาทิตย์ มีราคาที่ถูกลง ซึ่งจะเห็นว่ามีราคาที่ถูกกว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกในปัจจุบันอย่างมาก และที่สำคัญราคารับซื้อนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุสัญญา 25 ปี แม้ว่าราคาพลังงานในโลกจะสูงหรือต่ำเพียงใดก็ตาม ประกอบกับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น นอกจากประเทศไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าที่มีราคาถูกแล้วยังตอบโจทย์ด้านความสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย