สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวตามกระแสโลกและตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีสูง เม็ดพลาสติกชีวภาพ เภสัชภัณฑ์ สิ่งทอเทคนิค และยางล้อรถประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ สศอ. ได้ประเมินว่า จากนโยบายจีนเปิดประเทศจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรม (Real GDP of Manufacturing) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30
ขณะที่ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 98.32 ขยายตัวร้อยละ 0.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสะสมทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.61 เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2566 มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังได้รับแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช้อปดีมีคืน หนุนการบริโภคในประเทศจากความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกจากการที่ตลาดส่งออกสำคัญและคู่ค้าหลักมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลต่อการส่งออกไทย