ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ส.ค. หดตัวหลายรายการ ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3 กลับมาขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกและท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยภาวะหดตัวชะลอลงด้วยเช่นกัน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคถาคเอกชนขยายตัวชะลอตัวตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวตามรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังขยายตัวได้ สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้น สำหรับจำนวนผู้มีงานทำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับกิจกรรมเศรษฐกิจที่ชะลอลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลการค้าเป็นสำคัญ และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน
ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่หดตัวสูงจากยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านรายได้ที่ชะลอตัวลง และสถาบันการเงินเข้มงวดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากเห็นสัญญานของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง
นอกจากนี้ การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนขยายตัวชะลอลง ตามการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวสูง ขณะที่การใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนทรงตัว
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวเร่งขึ้น ตามการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ แต่ปัจจัยสนับสนุนการซื้อโดยรวมแผ่วลง โดยรายได้รวมนอกภาคเกษตรกรรมหดตัวต่อเนื่อง ส่วนรายได้ภาคเกษตรกรรมขยายตัวจากด้านราคาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผ๔บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมทองคำมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 8.9 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 10 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เป็นผลมาจากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว รวมทั้งผลของฐานสูงในปีก่อนจากการเร่งส่งออกของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีน ส่งผลให้การส่งออกหดตัวในทุกหมวดสินค้า
อย่างไรก็ตาม การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในระยะถัดไปมีสัญญานดีขึ้น เนื่องจากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในเดือนนี้กลับมาขยายตัวสูงขึ้น หลังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตจากมาเลเซียในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ผลดีจากการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนและสหรัฐฯ ในทั้ง 2 ตลาดมีมากขึ้น เช่นการส่งออกล้อรถยนต์ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ และเสื้อผ้า ขณะที่การส่งออกรถยนต์และจักรยานยนต์ที่มีราคาสูงไปจีนขยายตัวขึ้น แต่ผลดีเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าไปตลาดอื่น ๆ ที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์กลับมาหดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเกือบทุกวัตถุประสงค์ที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวต่อได้
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายจ่ายประจำที่หดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีรายจ่ายลงทุนภาครัฐขยายตัวเล้กน้อยตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวง และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่กลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายของ ทอท. และ ปตท.
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัวร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมทองคำที่หดตัวร้อยละ 8.0 โดยเป็นการหดตัวในทุกสินค้า ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้ายละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อปีก่อน และนักท่องเที่ยวได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ขยายตัวดี โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวัน โดยส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวจากฮ่องกงมาไทยจากเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวเยอรมัน และรัสเซียหดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ลดลงจากร้อยละ 0.98 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลมาจากราคาหมวดพลังงานที่หดตัวมากขึ้น ตามระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
สำหรับผู้ที่มีงานทำขจัดปัจจัยฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อนตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขระที่อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ด้านดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม ธปท. ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3 ขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และภาวะชะลอตัวเริ่มหดตัวลง โดยตัวเลขภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกด้วยปัจจัยส่งออกทองคำเป็นตัวหนุนที่สำคัญ