รศ. พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าศูนย์จักษุโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ตระหนักถึงภาวะโรคเกี่ยวกับตาที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จึงได้มีการยกระดับศูนย์จักษุเพื่อให้มีการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมในทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา โดยการดำเนินงานของ Eye Excellence Center ของโรงพยาบาล ประกอบด้วยองค์ความรู้ครบทั้ง 3 มิติได้แก่ 1. การให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการตรวจรักษาที่ทันสมัย 2. การศึกษาวิจัยโดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลมีการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาและบริการ และ 3. การให้ความรู้ทางการแพทย์โดยมีการจัดฝึกอบรมจัดประชุมวิชาการเป็นประจำ
ทั้งนี้ การรักษาโรคตานับว่ามีวิวัฒนาการที่รวดเร็วมาก ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งในแต่ละปีทางโรงพยาบาลได้จัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นระยะ โดยแนวโน้มของเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์จะเน้นการรักษาผ่าตัดเปิดแผลเล็กและมีการนำเลเซอร์เข้ามาใช้ร่วมในการรักษา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ระยะเวลารักษาไม่นานผลการรักษามีความแม่นยำตามที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดน้อยลง ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยทางหนึ่งได้
ปัจจุบัน ศูนย์จักษุโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมจักษุแพทย์ จำนวน 49 ท่าน ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างจอประสาทตา กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ม่านตาอักเสบ และโรคตาเด็ก เป็นต้น

นพ. สมบัติ ศรีสุวรรณภรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงการรักษาโรคต้อกระจกว่า ยังไม่มียารักษาให้หายได้ ถ้าจะให้การมองเห็นดีขึ้นผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการผ่าตัดต้อกระจกตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในยุคแรกๆ เทคโนโลยียังไม่ดีจึงเป็นการผ่าตัดแบบไม่มีเลนส์ใส่ เรียกว่า Intracapsular Cataract Extraction (ICCE) เป็นการผ่าตัดดึงเอาเลนส์ตาออกทั้งถุงหุ้มเลนส์เปิดแผลที่ขอบบนของตาดำประมาณ 12-15 มิลลิเมตร และต้องใส่แว่นขนมครกทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพขยายเกินจริงเยอะมากบางอย่างจึงหลุดเฟรม พอยุคถัดมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีการผ่าตัดด้วยวิธี Extracapsular Lens Extraction (ECCE) เริ่มมีการใส่เลนส์แต่จะมีการเปิดแผลด้วยใบมีดโดยแผลจะกว้างและต้องเย็บแผลประมาณ 5-7 เข็มซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีรักษาทั้ง 2 แบบนี้แล้ว

สำหรับเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาต้อกระจกที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การรักษาสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวน์(Phacoemulsification) หรือ“Phacoe – เฟโค” วิธีนี้ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถสลายส่วนของเลนส์ตาที่เป็นฝ้าหรือเสื่อมสภาพแผลผ่าตัดจะเริ่มเล็กลงมากประมาณ 2-4 มิลลิเมตรจากนั้นจักษุแพทย์จะทำการฝังเลนส์แก้วตาเทียมลงไปแทนเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นมัวหรือเสื่อมสภาพไปโดยเลนส์ตาเทียมจะอยู่ได้ตลอดชีวิตไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำหลังผ่าตัดช่วยให้การมองเห็นเร็วขึ้นและการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond laser) หรือเรียกสั้นๆว่า “Femto – เฟมโต” วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เปิดแผลได้ตามขนาดที่ต้องการทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ใช้พลังงานน้อย ทำให้ความบอบช้ำของกระจกตามีน้อย การรักษาแบบ Femto จะใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดแพทย์สามารถเปิดแผลได้อย่างแม่นยำและสามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการทำให้การวางตำแหน่งของเลนส์ได้ดีขึ้น หลังจากนั้นจะมีการตัดแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ก่อนจะใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ดูดเอาเลนส์ออกนับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาต้อกระจก

สำหรับประเทศไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง“อายุ” ถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม ที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ ยังเป็น 3 อันดับแรกของโรคที่ก่อให้เกิดภาวะตาบอดหรือสายตาเลือนรางได้ ทั้งนี้ โรคตาเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และในปัจจุบันนี้ จะพบปัญหาโรคตาเกิดในเด็กอายุยังน้อยมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า เด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสายตาสั้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้สายตาจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่เริ่มมีความรู้สึกผิดปกติเกี่ยวกับตาควรมารับการตรวจเช็คสุขภาพตาเพื่อตรวจคัดกรองโรคตาและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
