ความสำเร็จของบทเพลง “ทรงอย่างแบด” บอกให้รู้ว่า กระแสความนิยมตลาดเพลงยุคใหม่ ได้ขยายจากกลุ่มวัยทีน เข้าไปสู่กลุ่มฟันน้ำนม เรียบร้อยแล้ว
ในอดีตค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ห้ำหั่นชิงตลาดผลัดกันรุก ผลัดกันรับ 2 ค่ายกุมส่วนแบ่งตลาดรวมสูงถึง 90% คือ “แกรมมี่ กับ อาร์เอส” นับจากช่วงปี 2530 ถือเป็นยุคทองของทั้งสองค่าย ออกศิลปินชนกันเบอร์ต่อเบอร์ ส่งสายลับสอดแนมใครจะออกแนวไหน คาร์เรกเตอร์ศิลปินเป็นอย่างไร เพื่อส่งศิลปินในค่ายประกบ ไม่ให้สูญเสียแฟนคลับและส่วนแบ่งการตลาด สร้างสีสันจนเพลงยุค 90 ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแนวเพลงที่ดีที่สุดยุคหนึ่งของเมืองไทย
ในเวลาเดียวกัน “มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง” ก็ถือว่าบานสะพรั่ง สินค้าจำนวนมากประสบความสำเร็จจากการใช้บทเพลงเป็นจุดขาย ไม่ว่าจะเป็นการออกอัลบั้มเพลงที่ใช้โทนสีของสินค้าบนชุดของศิลปิน หรือการนำเพลงของศิลปินมาบรรเลงปิดท้ายด้วยโลโก้สินค้า สร้างยอดขายให้ผู้บริโภคจดจำและสนับสนุนสินค้าอย่างได้ผล
พลันที่ ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ประกาศแผนงานปี 2566 ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) คัมแบ็กธุรกิจเพลงเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 15 ปี กับ 2 โปรเจกต์ใหม่ RS Music ที่จะได้เห็นในปีนี้ ได้แก่ RS Homecoming นำศิลปินเก่ากลับมาอีกครั้ง และ RS Newcomers ปลุกปั้นศิลปินใหม่ในปีนี้ ทำเอาเหล่าสาวกเฮรับกระแส New Wave Music กลับมาแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้งของอาร์เอส เพราะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญของธุรกิจเพลงในปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งคนไทยยังนิยมฟังเพลงไทยมากถึง 78% อีก 22% เป็นเพลงต่างชาติ โดยมีสัดส่วนประเภทเพลงลูกทุ่ง 48% และ 34% เป็นเพลงป๊อป, ร็อก, เรโทร, เพลงเก่า ที่เหลือ 18% เป็นเพลงกระแสใหม่ประเภทอินดี้
แม้ปัจจุบันรายได้จากการทำเพลงอาจไม่สูงเหมือนยุคขายแผ่น แต่ต้นทุนการผลิตก็ลดลงมาก คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของ RS Music ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้สงครามเพลงปีนี้สนุกเร้าใจแล้ว การกลับมาของอาร์เอสรอบนี้น่าจะจะปลุก “มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง” ให้ร้อนระอุอีกครั้ง
RS Music วางเป้าหมายรายได้ปีแรกไว้ที่ 400 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม กลับมาของอาร์เอสครั้งนี้คงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ด้วยแนวเพลงและสไตล์คนฟังที่เปลี่ยนไป มีการสร้างสรรค์บทเพลงของศิลปินอินดี้ที่ไม่ต้องง้อค่ายเพลง แต่ใช้ช่องทางออนไลน์สร้างจุดขายด้วยต้นทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว ขณะที่ “แกรมมี่” เจ้าตลาดยังคงแข็งแกร่งในทุกเซกเม้นท์ ความสำเร็จของบทเพลง “ทรงอย่างแบด” หรือการสร้างเพลงลูกทุ่งแนวใหม่ “นิว คันทรี่” บอกให้รู้ว่า แกรมมี่ไม่ได้แน่นปึ่กแค่กลุ่มวัยทีน แต่ยังสยายปีกสู่กลุ่มพรีทีน และกลุ่มฟันน้ำนม แค่คิดก็สนุกแล้ว