น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. 64 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่คลี่คลายทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในหลายหมวด ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจผ่านรายจ่ายประจำและเงินโอน สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ย.ไทยจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมองว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวและเรียกความเชื่อมั่นต่างๆกลับมา แม้อาจจะมีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มากขึ้นบ้าง แต่สามารถบริหารจัดการได้และการกระจายวัคซีนทำได้ดี ช่วยให้ผู้ป่วยโควิดขั้นรุนแรงไม่ได้เพิ่มสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวและคาดว่าปี 64 จีดีพีขยายตัวกรณีฐาน 0.7% แต่ได้ประเมินกรณีเลวร้ายหากมีความเสี่ยงโควิดระบาด จีดีพีอาจต่ำกว่า 0.7% โดยจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่ในเดือนธ.ค.64
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะเข้าสู่โหมดของการฟื้นฟูภาคธุรกิจ โดยธปท.ได้มีสินเชื่อฟื้นฟูไว้รองรับธุรกิจที่ต้องการสภาพคล่อง และธปท.สนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่เริ่มฟื้นฟูมากขึ้น จากคนมีภาระหนี้ในช่วงโควิด คนก็ควรเบาตัว ละเข้าสู่โหมดปรับโครงสร้างหนี้ ค่อยๆแบ่งเบาภาระหนี้ในอนาคต โดยเครื่องมือที่มีอยู่ยังช่วยเหลือได้ แต่ยังตอบไม่ได้ว่ามาตรการปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ อาจต้องดูหลายมาตรการร่วมกัน
นอกจากนี้ธปท.ได้สอบถามผู้ประกอบการหลายแห่งในเดือนต.ค. เห็นสัญญาณหลายธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ภาคการผลิตดีขึ้นตามกำลังซื้อที่ค่อยๆปรับตัวดี และตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว รวมทั้งภาคบริการรับผลบวกจากการผ่อนคลายควบคุมการระบาด และยังเห็นสัญญาณแรงงานย้ายถิ่นและเลิกจ้างลดลง เริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้าพื้นที่อุตสาหกรรมบ้างแล้ว แต่ยังต้องติดตามความเปราะบางต่อเนื่อง เพราะยังมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 39 เพิ่มขึ้น สะท้อนคนตกงานยังไม่สามารถเข้าทำงานในระบบ
อย่างไรก็ตามในเดือนต.ค.เห็นทิศทางเงินบาทกลับมาแข็งค่า หลังจากไทยเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1พ.ย.นี้ ซึ่งเงินบาทในเดือนก.ย.อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น ด้านเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย.กลับมาเพิ่มขึ้นจากสิ้นสุดมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยคาดเงินเฟ้อปี 64 จะเข้าสู่กรอบล่าง 1%