“เศรษฐา” พบ 8 สายการบิน แก้ปัญหาท่องเที่ยว
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยร่วมรับฟัง และหารือข้อเสนอแนะกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการสายการบินของไทย รวม 8 สายการบิน เกี่ยวกับสถานการณ์การขนส่งคมนาคมทางอากาศที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ที่กำลังจะมาถึง

สำหรับปัญหาที่ผู้ประกอบการสะท้อนมายังนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย เช่น
1.การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้ทันกับฤดูกาลท่องเที่ยว อย่างน้อย 20%
2.การเพิ่มศักยภาพเครื่องบินให้ทันกับการปรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น
3.การเพิ่มโอกาสผลักดันนักท่องเที่ยวในตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย ให้มากขึ้น
4.การเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้มีความเหมาะสมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
เศรษฐากล่าวว่าพรรคต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้เข้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น (Quick win) ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการภายในสนามบิน การเพิ่มเที่ยวบิน การเพิ่มหรือขยายรันเวย์ เป็นต้น
ข้อเสนอของสายการบินต่างๆ ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีในการร่วมกันส่งเสริมและสร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นเรื่องดีที่ทุกสายการบินให้การตอบรับนโยบาย Free visa ในบางประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีน ซึ่งคาดว่าทุกสายการบิน มีความต้องการขยายจำนวนเที่ยวบินรับนักท่องเที่ยวตอบรับนโยบายแน่นอน ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและต่างประเทศ
นายกฯ สปป.ลาว ต่อสายยินดี “เศรษฐา”นั่งนายกฯ
วานนี้ (28 ส.ค.) สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี (นรม.) สปป ลาว ได้โทรศัพท์ถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความยินดีโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นรม สปป ลาวได้กล่าวแสดงความยินดีต่อ นรม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมชื่นชม นรม ซึ่งเป็นผู้มี ประสบการณ์อย่างมาก โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจ และเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่าง สองประเทศ จะพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป พร้อมเชิญ นรม เยือน สปป ลาวในโอกาสแรก
ไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของ สปป ลาว เห็นว่า ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มพูนขึ้น รวมถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจของภูมิภาค ด้านความเชื่อมโยงโดยเฉพาะ ทางรถไฟสามฝ่าย ไทย-ลาว-จีน และ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 จะแล้วเสร็จในโอกาสแรก และ ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งโครงการไฟฟ้าใน สปป ลาวหลายแห่งก็ได้เริ่มส่งไฟฟ้าให้ฝ่ายไทยแล้ว ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนา เศรษฐกิจของไทย จึงอยากเห็นโครงการอื่น ๆ มีความคืบหน้า
เศรษฐาได้กล่าวแสดงความขอบคุณ นายกรัฐมนตรี สปป ลาวและขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับสารแสดงความยินดี หวังว่า จะมีโอกาสเยือน สปป ลาว ในโอกาสแรก เพื่อกระชับ ความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจะให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม ความสัมพันธ์กับ สปป ลาว ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง และประสงค์ให้สอง ประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น พร้อมทำงานกับฝ่าย สปป ลาว อย่างเต็มที่ให้เกิดความก้าวหน้าในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจ และหวังว่า จะได้พบกับ นรม สปป ลาวในโอกาสแรก พร้อมตั้งใจจะเยือน สปป ลาว อย่างเป็นทางการเป็น ประเทศแรกด้วย
“บิ๊กน้อย” ลาออกจาก พปชร.ยุติบทบาทในพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ส.ค.) พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “บิ๊กน้อย” เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกแล้ว โดยระบุเหตุผลในใบลาออกว่า ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคพปชร.อีกต่อไป เพราะไม่ได้มีบทบาทใดในพรรคแล้ว ที่ผ่านมาเป็นเพียงทีมงานส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เท่านั้น

แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.วิชญ์ ให้เหตุผลในการลาออกว่า “ไม่อยากอยู่ขวางหูขวางตาใคร เพราะหลังจากที่มีชื่อชิงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็มีบางคนติติงว่า ไม่ได้มีบทบาทใดในพรรค ทำไมจึงมีชื่อจะได้เป็น รมว.กลาโหม ทั้งที่ไม่เคยขอตำแหน่งใด
อีกทั้ง เคยประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่า มาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร ไม่ได้หวังตำแหน่งใดๆ และไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะให้โควตา รมว.กลาโหมพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว จึงไม่ได้คาดหวังอะไรตั้งแต่แรกแล้ว เพื่อความสบายใจ จึงตัดสินใจลาออก โดยจะไปทำงานด้านกีฬาเท่านั้น เพราะไม่ถนัดการเมือง มาตั้งแต่ต้น
เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมาพล.อ.วิชญ์ ได้กลับมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง หลังจากเคยลาออกไป และเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และต่อมาลาออกจากพรรคเนื่องจากปัญหาขัดแย้งกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยระบุว่ารับไม่ได้กับการทำงานที่ไม่ฟังเสียงใคร ทำตามอำเภอใจ ไม่ให้เกียรติกัน และปัจจุบัน ร.อ.ธรรมนัส กลับมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
เฉลยแล้ว “กฤษฎา” โควต้า รทสช.นั่ง รมช.คลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในสัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรค 4 เก้าอี้ โดยที่น่าสนใจคือ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ซึ่งเป็นโควตาคนนอก ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในเรื่องการเงินการคลัง โดยมีรายงานข่าวว่าสาเหตุที่ต้องเลือกบุคคลนอกพรรค เนื่องจากตำแหน่งรมช.คลังมีความสำคัญ ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้เฉพาะในเรื่องการเงินการคลังเข้าไปทำงานเท่านั้น

ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนรายชื่อให้ พิมภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช มานั่ง รมว.อุตสาหกรรม แทน พิชชารัตน์ เลาหะพงชนะ ทำให้เก้าอี้ครม.ของ รทสช. ขณะนี้ มีพีระพันธุ์ เป็นรองนายกฯและรมว.พลังงาน พิมภัทรา รมว.อุตสาหกรรม และอนุชา รมช.เกษตรฯ และกฤษฎา รมช.คลัง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันที่ 28 ส.ค. พรรครทสช.มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นการภายใน โดยในที่ประชุมได้มีการแจ้งรายชื่อบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีในโควตาของพรรคให้กก.บห.รับทราบด้วย ทั้งนี้ ได้มีการส่งรายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“เพื่อไทย”รับเรื่อง “iLaw” ดันร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รับหนังสือจาก จีรานุช เปรมชัยพร ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ที่ต้องการขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญด้วยคำถามที่ไม่มีเงื่อนไข โดยได้แนบคำถามที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และตัวเลขแสดงจำนวนรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน

พร้อมอ้างอิงแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศตอนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือการเร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยการจัดให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก แม้ว่ากลุ่มประชาชนจะเห็นนิมิตหมายอันดีและเห็นความตั้งใจของพรรคการเมือง แต่ยังมีความกังวลว่าในการทำประชามติอาจมีการออกแบบคำถามที่มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างมาจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม อาจจะทำให้ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนและไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง
โดยรวบรวมรายชื่อประชาชน 205,739 รายชื่อ แนบอ้างอิง เพื่อประสงค์ที่จะเสนอคำถามในการทำประชามติการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยอ้างใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 2564
ขณะเดียวกันยังอ้างว่าการอ้างอิงจากจำนวนประชาชนที่มากเช่นนี้เนื่องจากกลุ่มไม่มั่นใจว่าสำนักงาน กกต. จะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. ได้ทันการประชุม ครม. นัดแรกจึงนำคำถามมายื่นต่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อนำสู่การพิจารณาใน ครม.นัดแรก