สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานแถลงความสำเร็จโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Start up : Early Stage) และโครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Boost Up New Entrepreneurs) สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 1,300 ล้านบาท ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยกว่า 10,000 ราย ให้สามารถต่อยอดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Start Up : Early Stage) เป็นโครงการที่เน้นพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบไปด้วย นักศึกษา ผู้เริ่มต้นธุรกิจ พ่อค้าหรือแม่ค้า ที่ต้องการพัฒนากิจการของตนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของตนผ่านการใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น หรือกระทั่งมาตรฐานทางอุตสาหกรมต่างๆ เป็นต้น โดย คัดเลือกผู้สมัครเพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ยกระดับทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญผ่านที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา อุตสาหกรรม และหน่วยงานชั้นนำของประเทศ พร้อมต่อยอดเข้าสู่โครงการยกระดับธุรกิจ เริ่มต้น (Boost Up New Entrepreneurs) เน้นสนับสนุน และส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย โดยทั้งสองโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2562 เป็นอย่างดี โดยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจชุมชนระดับฐานรากในภาคการเกษตรกว่า 5,152 รายและภาคทั่วไปอีก 5,058 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 1,300 ล้านบาท ให้สามารถต่อยอดและเติบโตต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ด้วยการพัฒนาโครงการที่ไม่หยุดยั้ง ทำให้การดำเนินงานในปี 2562 ยกระดับการบ่มเพาะเชิงลึกให้มีความเฉพาะเจาะจง ตามความเหมาะสมกับบริบททางการตลาด เทคโนโลยีและสังคม พร้อมปรับรูปแบบการดูแลให้คำปรึกษา (Coaching) ให้เข้ากับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มมากขึ้น ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด โดยเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการขับเคลื่อน โดยขยายสู่ผู้ประกอบการผู้สูงอายุ (Born@50+) กลุ่มผู้หญิง (Women Entrepreneur) กลุ่มดิจิทัล (Digital) กลุ่มสิ่งทอ (Textile) พร้อมต่อยอด ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ในโครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Booth Up New Entrepreneur) ที่จะเชื่อมโยงงานวิจัยและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือพัฒนาโมเดลการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับสู่มาตรฐาน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากความสำเร็จทั้ง 2 โครงการ นับเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มองค์ความรู้ เสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ ให้สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพให้ได้มาตรฐาน มีมูลค่าสูง แข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลักดันผู้ประกอบการไทยก้าวสู่เวทีสากล นายสุวรรณชัย กล่าว

กฤษณศักดิ์ หริรักษ์ไพบูลย์ ผู้ประกอบการชานมไข่มุก Kinta กล่าวว่า คำว่า Kinta มาจากภาษาใต้ที่แปลว่า ลองกินดู เป็นแบรนด์ที่เกิดใน จ.ยะลา ผมมีเป้าหมายที่อยากทำแบรนด์ชานมให้ไปทั่วประเทศ ซึ่งจุดเด่นของเราคือเป็นชานมไข่มุก Brown Sugar จากนมแพะ ซึ่งใช้นมแพะของกลุ่มเกษตรกร จ.ยะลา ซึ่งดีกว่านมวัวในหลายๆ ด้าน คือ ช่วยในเรื่องกระบวนการย่อยอาหาร และอีกอย่างคือ สำหรับคนที่แพ้แลคโตส ซึ่งนมแพะมีน้อยกว่า และบางคนที่มีปัญหาเรื่องกลิ่น ของเราช่วยได้คือ มีไข่มุกเคลือบน้ำตาลทำให้สามารถทานนมแพะได้ง่ายขึ้น ซึ่งรายได้ภายในเดือนนี้มีรายได้กว่า 5 แสนบาท สุดท้ายอยากฝากคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำธุรกิจว่า การคิดใหญ่เป็นสิ่งที่ดี แต่ทำใหญ่บางทีมันเหนื่อยเพราะมีขบวนการเยอะ อาจไม่ได้อย่างที่ใจหวังถ้าล้มมันจะเจ็บ อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป หากประสบความสำเร็จค่อยขยายไปเรื่อยๆ ซึ่งแบบนี้จะปลอดภัยกว่า

อริสา เอะโนคิโด ผู้ประกอบการคอนเทนต์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม “Pet Planet” กล่าวว่า เราเริ่มจากการที่ชอบสุนัขและแมว ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำคอนเทนต์มาก่อน ส่วนตัวสนใจการแก้ไขปัญหาเรื่องสุนัขจรจัด จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดโครงการนี้ ได้มีการจัดระบบอาสาสมัคร ทำคู่มือให้กับเชลเตอร์ และมีการเปิดเพจ Facebook ในการแชร์ข้อมูล หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับสัตว์จากเพจอื่นๆ หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เราจึงเริ่มทำคอนเทนต์เองเป็นวิดีโอคลิป ซึ่งความสำเร็จไม่ใช่เรื่องรายได้ หรือสิ่งที่สามารถจับต้องได้ แต่สิ่งที่ได้คือการนำสิ่งที่เรารักมาพัฒนาเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงชุมชน และโลกได้

ปรัชญา จตุเพียร ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดงานวิ่งมาราธอน บริษัท Banana Software กล่าวว่า เราทำเกี่ยวกับระบบการจัดการงานวิ่งมาราธอนซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราทำงานมาราธอนกว่า 40 งาน จุดเริ่มต้นมาจากความกลัวไปเป็นความกล้า ตอนแรก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่จัดงานวิ่งมาราธอนระดับต้นๆ ของประเทศ รุ่นพี่มาชวนให้ทำระบบซอร์ฟแวร์มาราธอน ซึ่งเราปฏิเสธไปเพราะกลัวจะทำงานให้เขาออกมาไม่ดี และมีเจ้าอื่นติดต่อมาอีกเราจึงใช้ความกล้าตัดสินใจเริ่มต้นจากทำระบบ Regis Station และการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งระบบที่เราทำทั้งหมดเราพัฒนาขึ้นเอง ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการฯ จากที่เราเคยใช้กระบวนการในการทำงานหลายขึ้นตอน แต่สามารถทำให้เหลือเพียงไม่มีขั้นตอนเท่านั้น ประหยัดเวลาและเงินไปได้มาก สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดเมื่อปี 2018 งาน CMU มาราธอน เป็นอันดับ 2 แต่ในปี 2019 ในครึ่งปีแรกงาน CMU มาราธอนกลายเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

พรชัย จินตโนทัยถาวร ผู้ประกอบการงานกระจกพ่นทราย “บ้านมังกร” กล่าวว่า ผมเริ่มจากการนำขวดใส่กาแฟที่บ้านทำเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาพ้นทรายเพื่อทำให้หยาบ ใช้เทคนิคสีอะคริลิคมาเพ้นท์ จากที่เขานำขวดไปทิ้งผมสามารถสร้างมูลค่าขายได้ในราคา 150 บาท มีคนถามว่าเป็นสมาชิกโครงการฯ ได้อะไร อย่างแรก คือ การได้ลงมือทำ อย่างที่สอง คือ การแข่งขัน ผมได้ไปออกบูธที่เซ็นทรัลอีสต์วิลล์ ทำให้ผมได้เจอกับกลุ่มเป้าหมายสินค้าของเราชัดเจนขึ้น ผมได้ส่งสินค้าไปยังโรงแรมริมทะเล หรือสปาต่างๆ และในอนาคตผมจะต่อยอดเป็นงานเพ้นท์กระจกจากสีอะคริลิค ซึ่งไม่มีการสอนในตลาดเป็นวิธีเฉพาะของผมเอง ซึ่งอาจจะมีทำวิธีการสอนผ่าน E-Book และเปิดเป็นอะคาเดมี่ ผมเชื่อว่าเวลาเราเจอธุรกิจที่สำเร็จจะบอกว่าเพราะว่าเฮง แต่ผมมองว่านอกจากเฮงแล้วต้องมาพร้อมกับคำว่าเก่งด้วย