ลุ้นราคาใหม่ดีเซล! “คลัง” หยุดต่ออายุลดภาษีฯ สิ้นสุด 21 ก.ค.นี้
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า เมื่อ 12 พ.ค. 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราพิกัดภาษีสรรพสามิตดีเซลโดยกำหนดที่จะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไป โดยจะสิ้นสุด 21 ก.ค. 66 เนื่องจากให้รอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา

เพราะว่าด้วยเรื่องของงบประมาณการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่หายไปด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)จะหารือกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะวางแนวทางในการรับมือหลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจัดเก็บเงินจากดีเซลเข้าสะสมในกองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยราว 5 บาทต่อลิตร ดังนั้นคงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีฯดีเซล ถึงตอนนั้นต้องดูหลายปัจจัยสำคัญทั้งราคาตลาดโลกเป็นเช่นไร เงินกองทุนฯ ที่เก็บจากดีเซล ภาระหนี้ของกองทุนฯ เชื่อว่าว่าราคาจะไม่ขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตรตามที่หลายคนกังวล
เถ้าแก่วอนรัฐแก้ปัญหาค่าไฟ เปิดโครงการกระตุ้นกำลังซื้อรอบใหม่
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index : SMESI) ประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.9 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลดีต่อธุรกิจ

โดยเฉพาะภาคการค้าและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ SME กำลังมีความกังวลด้านต้นทุนมากขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น โดย สสว. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับความต้องการรับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐ พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ ต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะปัญหาด้านค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และต้องการให้ควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดอัตราการเก็บภาษี และต้องการให้รัฐขยายโครงการกระตุ้นกำลังซื้ออีกครั้ง
อุ้มเอสเอ็มอี 6 กลุ่ม ต่ออายุโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริม SME) ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมให้เติบโต เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในทุกกลุ่มกิจกรรมจนมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมการฟื้นธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว โดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

ได้มีมติอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 10 เป็นระยะเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อ แต่หลักประกันไม่เพียงพอหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินและสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กว่า 100,000 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา โครงการนี้ค้ำประกันสินเชื่อตอบโจทย์ SMEs 6 กลุ่มได้แก่ 1.สตาร์ตอัพไม่เกิน 100,000 บาท/ราย 2.สมอลล์ บิซ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อรายย่อยไม่เกิน 200,000 บาท/ราย 3.สมาร์ท วัน เสริมสภาพคล่องไม่เกิน 40 ล้านบาท/ราย 4.สมาร์ท บิซ เพื่อเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก ไม่เกิน 40 ล้านบาท/ราย 5.สมาร์ท กรีน เสริมธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่เกิน 40 ล้านบาท/ราย และ 6.สมาร์ท พลัสไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย
ประกันสังคมเปิดช่องสมัครมาตรา 39 ผ่านระบบออนไลน์
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ นำระบบอิเล็กทรอกนิกส์เข้ามาเป็นช่องทางให้บริการ เพิ่มความสะดวก ลดภาระแก่ประชาชน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีการปรับปรุงช่องทางที่ให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สปส. ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องการสมัครและขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ผู้สมัครดำเนินการได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Self Service จากเดิมที่ผู้ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องเดินทางไปดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ต่างๆ สำหรับผู้ที่จะสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า12 เดือน และออกจากงานประจำมาไม่เกิน 6 เดือน โดยเมื่อสมัครแล้วจะยังคงสิทธิต่างๆ ของผู้ประกันตนต่อไป อาทิ สิทธิได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ สิทธิคลอดบุตร สิทธิทันตกรรม สิทธิกรณีเสียชีวิต บำเหน็จชราภาพ เป็นต้น
โพลชี้ผลสำรวจพบประชาชน 51.90% เครียดเรื่อง ‘จัดตั้งรัฐบาล’
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,352 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2566 พบว่า จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 72.63 ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องปากท้อง/ค่าใช้จ่ายมากที่สุด ร้อยละ 52.14 รองลงมาคือ การจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 51.90 ทั้งนี้เมื่อมีความรู้สึกเครียดจะแก้ปัญหาด้วยการคุยกับเพื่อน คนรัก คนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 46.38 เมื่อสอบถามว่าประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่า กังวล ร้อยละ 67.83 เนื่องจากกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีการเล่นเกมการเมืองมากเกินไป และกังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ส่วนความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่น พบว่า ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 58.33 และเชื่อมั่น ร้อยละ 41.67