HomeBT Newsสิทธิที่ควรรู้! เมื่อถูกเลิกจ้างฟ้าผ่า

สิทธิที่ควรรู้! เมื่อถูกเลิกจ้างฟ้าผ่า

ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มนุษย์เงินเดือนเกิดความไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงที่จะถูก เลิกจ้าง เราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับปัญหานี้ที่อาจจะเกิดขึ้น สิ่งที่ควรรู้และปฏิบัติเมื่อต้องตกงานฟ้าผ่านั้นมีอะไรบ้าง

สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือตั้งสติ หาสาเหตุของการถูกเลิกจ้าง เพื่อรักษาสิทธิค่าชดเชยตามกฎหมาย หากถูกเลิกจ้างกระทันหันตามกฏหมายแล้วพนักงานจะได้รับการชดเชยจากนายจ้าง 2 อย่าง คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) 

ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง

- Advertisement -

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
1.1 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
1.2 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
1.3 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
1.4 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
1.5 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้

1. ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหกปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน
3. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
1. แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
2. ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว
1. นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราคาชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ
2. ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน

จากนั้นจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ กับฝ่ายบุคคลให้เรียบร้อย ขอใบรับรองการผ่านงานจากทางบริษัท เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันประสบการณ์การทำงานของเรา และยืนยันว่าเราไม่ได้ถูกให้ออกเพราะทำเรื่องผิดวินัย และขอเอกสารใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ เพื่อใช้ยื่นแสดงรายได้ของปีนั้น

สิทธิอีกอย่างหนึ่งหลังจากออกจากบริษัทแล้วคือการยื่นขอเงินชดเชยประกันตนกรณีว่างงาน โดยเข้าไปทำรายการที่สำนักงานประกันสังคม หรือเว็บไซต์ www.sso.go.th เพื่อขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้

การวางแผนอนาคตจะทำให้เราใช้ชีวิตในวันนี้ได้อย่างไม่ประมาท เราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในภาวะที่เกิดวิกฤติต่าง ๆ จนทำให้ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันนั้น ก็จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้เป็นอย่างดี

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News