ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อ จากปัจจัยกดดันเรื่องสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกเข้าถือ “เงินบาท” เนื่องจากผันผวนน้อยกว่าสกุลเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
โดย “ธนาคารกสิกรไทย” ได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้จาก 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลงอีก 2 ครั้ง ส่งผลให้มีเงินในสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์)ไหลเข้าไทย โดยเงินบาท จนถึงวันที่ 27 ส.ค. แข็งค่าขึ้น 5.4%
เปิดสาเหตุฟันด์โฟลว์ทำไมไหลเข้าไทย

ดร.กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า สาเหตุมีฟันด์โฟล์วไหลมาพักที่ไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่า “เงินบาท” ไทยมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง เงินเฟ้อต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ
ทำให้นักลงทุนต่างชาติใช้ประเทศไทยเป็นที่พักเงิน โดยในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟวล์) ยังไหลเข้าตลาดทุนไทยต่อเนื่อง โดยไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก
แม้ กนง. ลดดอกเบี้ยอีก อาจไม่ช่วยให้บาทอ่อนลง
ดร.กอบสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ คือการบริหารจัดการ “นโยบายการเงิน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมองว่า ธปท.ต้องพิจาณราอย่างรอบคอบในการใช้นโยบายด้านดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่าแม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจจะไม่ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
เนื่องจากการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันพบว่า มีการเข้าถือครองตราสารหนี้ระยะยาวมากถึง 876,000 ล้านบาท ในขณะนี้การถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงเหลือ 70,000 ล้านบาท หลังจาก ธปท. ใช้มาตรการปรับเกณฑ์ยอดคงค้างของบัญชี NRBS และ NRBA จากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อ NR ต่อแระเภทบัญชี ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
ดังนั้นหาก กนง. มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง อาจส่งผลให้ในทางตรงกันข้ามเป็นการกระตุ้นในเกิดการเข้าถือตราสารหนี้ระยาวมากขึ้น และไม่ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามทฤษฎี ขณะเดียวกันหาก ธปท. ใช้นโยบายแทรกแซงค่าเงินบาท ก็อาจสุ่มเสี่ยงส่งผลให้สหรัฐฯ ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ดังนั้นประเมินว่า ธปท. จะต้องพิจารณาให้ดีในการใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาควบคุมค่าเงินบาท
ดร.กอบสิทธิ์ กล่าวว่า “โอกาสที่ค่าเงินบาทจะหลุด 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีนี้ก็มีเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถเดาได้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะทวิตอะไรออกมาอีก แต่การกดดันเรื่องดอกเบี้ยเฟดจากประธานาธิบดีฯ ส่งอาจผลให้เฟดมีโอกาสลดลดเบี้ยลงอีก2ครั้งในปีนี้ สภาพคล่องในระบบก็มีมากขึ้น เงินก็ไหลเข้าไทยมากขึ้นเช่นกัน แบงก์ชาติชาติต้องจับจังหวะนี้”