ในช่วงเวลานี้หลายคนคงเจอกับตัว แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดหนัก โทรมาหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างคำต่างๆนานาให้เราหลงเชื่อ ซึ่งหลายหน่วยงานระดับประเทศกำลังเร่งเดินหน้าจัดการ แม้จะยังไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพนี้ได้ก็ตาม และนับวันจะยิ่งเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไม่ซ้ำ มีถึงขั้นหลอกเป็นตำรวจ วิดีโอแบบเห็นหน้าอ้างว่ามีความผิด ทำให้เรายิ่งเกิดความหวาดกลัวจนต้องยอมย้ายถ่ายโอนเงินในบัญชี หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อในที่สุด!
ลักษณะมิจฉาชีพในโลกออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
1.Friendly Fraud (การทุจริตจากคนแวดล้อมใกล้ตัว)
2.Fake Website (เว็บไซต์ปลอม)
3.Bin Attack (การสุ่มเลขบัตร)
4.Social Engineering (การหลอกโอนขอ OTP หรือ One Time Password และหลอกโอนเงิน)
5.แก๊งคอลเซ็นเตอร์
6.แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ตำรวจหรือไปรษณีย์ เป็นต้น
ตัวอย่างลักษณะกลโกง เช่น มิจฉาชีพส่ง QR Code ปลอมหลอกให้ลูกค้าสแกนทำรายการ , ลูกค้าได้รับอีเมลหลอกลวงหรือหน้าเว็บไซต์ปลอม (Email Phishing) จากมิจฉาชีพ และหลอกให้ทำการอัพเดทข้อมูลบัตรเครดิตและถูกนำไปใช้เข้าระบบและทำรายการธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
10 วิธีป้องกันง่าย ๆ ให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ ดังนี้
1) ระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมลลวง ทุกธนาคารและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายแจ้งให้ลูกค้าเข้าใช้บัญชีผ่านทางอีเมล
2) ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ
3) ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรม ผ่าน SMS หรือให้อีเมลกับธนาคารและสถาบันการเงิน
4) ล็อคเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
5) ตรวจสอบความเรียบร้อยสมบูรณ์ถูกต้องของ QR Code
6) ระมัดระวังการสแกน QR Code ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ
7) ไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวหลังจากสแกน QR Code
8) ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์หรือ URL หลังการสแกน QR Code เพราะมิจฉาชีพมักใช้ชื่อคล้ายคลึงกัน
9) หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอปฯ จาก QR Code
10) ดาวน์โหลดจาก Apple Store หรือ Google Play
แต่หากว่าใครที่รู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อเข้าเสียแล้ว! สามารถติดต่อแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่โทร. 1441 หรือติดต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สายด่วน โทร. 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง