ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 ว่าจะติดลบจากปีก่อน 7% ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าจะติดลบจากปีก่อนถึง 14% เหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value (LTV)

ด้วยเหตุนี้ สมาคมอาคารชุดไทยจึงได้จัดงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2019” โดยมีกลุ่มผู้นำธุรกิจตลาดคอนโดฯ เข้าร่วมวิเคราะห์ภาวะตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน , การปรับกลยุทธ์ และ การปรับตัวของผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท – พรีเมี่ยม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดช่วงที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างรวดเร็ว จากการประกาศนโยบาย Macro-prudential policy หรือ มาตรการ LTV โดยประกาศนโยบายในปลายปี 2561 และมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 2562 ส่งผลให้ ยอดขายในเขตกทม.- ปริมณฑลครึ่งปีแรก มูลค่าติดลบ 13 % ยูนิตติดลบ 11 % ในขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกทม. – ปริมณฑล ครึ่งปีแรกมากกว่าปีที่แล้วมูลค่าสูงขึ้น 17 % จำนวนยูนิตเปิดใหม่สูงขึ้น 21% ส่วนยอดขายในต่างจังหวัดหลัก ๆ ครึ่งปีแรกมูลค่าติดลบ 8% จำนวนยูนิตติดลบ 12%
ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดย
-เลื่อนกำหนดการใช้มาตรการ Macro-prudential policy หรือ มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปก่อน โดยจะพิจารณาใช้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม
-การพิจารณาถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นการออมของประชาชนในรูปแบบหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นหนี้ครัวเรือน แต่แตกต่างจากสินเชื่อเพื่อการบริโภค เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อการกำกับหนี้ครัวเรือนระยะยาว แต่ขณะเดียวกันก็มองด้วยว่ามาผิดที่ผิดเวลา ล่าสุดปี 2562 ซัพพลายสะสมคงค้างเหลือ 8 หมื่นกว่าหน่วย ปีนี้มองว่าทั้งปีจะขายได้ห้าหมื่นห้าพันหน่วย เช่นเดียวกับปี 2558—2560 แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา 2561 จะขายได้เยอะ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีมาตรการ LTV
สำหรับกลยุทธ์ทางออริจิ้น ต้องเร่งปรับตัวและเอาใจผู้บริโภค กอปกับสิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดใหม่ คือความน่าสนใจของโครงการในยุคที่ดีมานด์ถูกครอบให้เหลือน้อยลง จำเป็นต้องครีเอทโมเดลใหม่ หาลิฟวิ่งโซลูชั่น และ ลิฟวิ่งเอกซ์พรีเรียน
อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์บี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ้าเรามองตลาดอสังหาฯในกทม.หรือในประเทศไทย ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เรามีวิกฤตสองครั้ง คือใน ปี 2540 กับปี 2551 ถ้าไม่นับรวมสองครั้งนี้ คอนโดโตมา 18 ปี โตจนซัพพลายเยอะ ขณะเดียวกันมองว่า พร็อพเพอร์ตี้ เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เราได้จีนเข้ามาซึ่งมีกำลังซื้อ เรามองในกลุ่มของคนมีเงิน แต่พอมีมาตรการ LTV ทำให้คนหยุดใช้เงินภาพรวมเศรษฐกิจก็ไม่เดิน ตลาดบนก็กระทบกับมาตรการ LTV ด้วย เพราะกู้ไม่ได้เท่าเดิม ขณะที่ราคาประเมินไม่แน่นอนว่าจะขึ้นไหมเพราะกระทบกับภาษี
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์บี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะทำคอนโดฯเพิ่มในปีหน้านั้นคงไม่ทำ แต่จะเคลียร์ยูนิตที่เหลืออยู่ และจะพัฒนาเฉพาะโครงการที่มีจุดขายจริงๆ ซึ่งคิดว่าซัพพลายที่จะเปิดตัวใหม่จะลดไป 20%