คลังประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0) ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.2 ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 จากปี 2565 และการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจ
โดยรวม อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวที่ร้อยละ -0.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.3 ถึง -0.3) นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.6 ถึง -1.6) ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 ถึง 2.7) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ1.2 ถึง 2.2) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค. 2566
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2566 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นสำคัญ”ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 81.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการเนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะขยายกิจการของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 79.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับบางพื้นที่มีการจัดงานประเพณีประจำท้องถิ่น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการภาคบริการในพื้นที่มีแนวโน้มจะขยายกิจการของตนเองมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 77.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่แนวโน้มจะขยายกิจการของตนเองมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 76.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้แปรรูป และในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับภาคเหนือกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจกทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 74.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคการจ้างงาน เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่มีแนวโน้มจะขยายกิจการ ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่มีความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 73.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคกลางมีความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของกลางอยู่ที่ระดับ 69.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่มีความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างแรงงาน
ดีอีเอส ประชุมไฟเขียวเพิ่ม 6 พื้นที่ สู่เมืองอัจฉริยะไทย
ดีอีเอส ประชุมขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ไฟเขียวเพิ่ม 6 พื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมร่วมพิจารณาข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 6 พื้นที่

ก่อนมีมติเห็นชอบเพื่อประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อมเสนอ 3 จังหวัด (ขอนแก่น-เชียงใหม่-ระยอง) เป็นเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม Mdes 1 ชั้น 9 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ธ.ก.ส. พร้อมเดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน “สินเชื่อแทนคุณ”
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้มีการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสอดรับกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL และจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ควบคู่กับการเสริมความรู้ ทางการเงิน เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้ ซึ่งการดำเนินงานมีทั้งการวางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย มาตรการทางด่วนลดหนี้ มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย ปี 2565 มาตรการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วน (จ่ายดอก ตัดต้น) มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก เพื่อลดภาระและความกังวลใจในด้านภาระหนี้สินผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน
โดยปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกค้าและที่มาของรายได้ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพและเสริมสภาพคล่องในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจากร้อยละ 14.6ไปอยู่ที่ร้อยละ 7.68 ณ 31 มีนาคม 2566ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2563 ถึงงวด มี.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท
โดยในปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด ธ.ก.ส. ได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนักและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ทายาทที่มารับช่วงประกอบอาชีพ เพื่อปิดชำระหนี้เดิมของผู้สูงอายุ แบ่งเป็นสัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 เท่ากับ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2 กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี และสัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนทายาทในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจของครอบครัว
โดยการเติมความรู้ทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน เพื่อเพิ่ม Added Value สร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน
“กรุงไทย” ผนึก “ฟิเดลิตี้” เปิดกองทุน Krungthai World Class Series
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน เพื่อสนับสนุนการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในทุกจังหวะของตลาด เดินหน้าต่อยอดความร่วมมือกับฟิเดลิตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Fidelity International)
