รัฐบาลเชื่อมั่น นักท่องเที่ยวมาไทยตามคาดการณ์ 25 ล้านคนภายในปีนี้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยภายในปี 2566 จนถึงกลางเดือน มิ.ย.นี้ มีจำนวนมากที่สุดในรอบเวลา 3 ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นไปตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ คือภายในเดือน มิ.ย. 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน และยอดนักท่องเที่ยวของทั้งปีจะสูงถึง 25 ล้านคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ (ในสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12 – 18 มิ.ย. 2566) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีจำนวนถึง 73,750 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 22.03 % ส่งผลให้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 489,781 คน ขยายตัว 6.35 % (WoW) (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2566) สำหรับ 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ คิดเป็น 48.2 % ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมากที่สุด เพิ่มขึ้น 22.03 % (WoW) รองลงมา ได้แก่ อินเดีย เพิ่มขึ้น 4.78 % (WoW) มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3.89 % (WoW) เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.65 % (WoW) และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 1.87 % (WoW)
UN จัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้นและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และมีความยินดีที่การพัฒนาของประเทศไทยดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลคะแนน SDG Index ที่ 74.7 คะแนน ในปี 2566 ทำให้ไทยมีคะแนนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำผลสัมฤทธิ์ที่รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13
SME D Bank ผุดแคมเปญช่วย SMEs ลดภาระธุรกิจ ติดปีกด้วยเทคโนโลยี
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า SME D Bank ได้จัดเตรียมแนวทางช่วยเหลือด้านการเงินควบคู่การพัฒนา เพื่อจะตอบความต้องการของ SMEs ได้ครบถ้วนที่สุด โดยด้านการเงิน มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่น “BCG Loan” เพื่อนำไปยกระดับปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือลงทุนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ช่วยลดต้นทุน วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี อีกทั้ง สำหรับลูกค้าใหม่ จะได้สิทธิลดภาระค่าใช้จ่าย หากยื่นกู้และใช้วงเงิน 1 ล้านบาท ถึง 50 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2566 ได้รับ Cash Back ค่าประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาทต่อราย

ขณะที่ด้านการพัฒนา สนับสนุนผ่านการดำเนินโครงการ SME D Coach โดยมีเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจ เช่น เครื่องมือ Business Health Check ช่วยให้ SMEs เข้าใจศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้ดีขึ้น สามารถบริหารจัดธุรกิจ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้เหมาะสม ช่วยให้ลดต้นทุนธุรกิจได้ อีกทั้ง บริการให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ไทยที่ 4 ของอาเซียน และติดอันดับ 52 ประเทศ ระบบนิเวศสตาร์ทอัพดีที่สุดในโลก
บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลกประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) อยู่ในอันดับ 52 ของโลก อันดับที่ 4 ของอาเซียน โดยผลการจัดอันดับขยับขึ้นสูงกว่าปี 2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก ได้จัดอันดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2560 โดยผลการจัดอันดับ Global Startup Ecosystem Index 2023 ในปีนี้ประเทศไทยได้ลำดับที่ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ ถือเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 6) อินโดนีเซีย (อันดับ 41) และมาเลเซีย (อันดับ 43)
สคร. กำกับใกล้ชิด รัฐวิสาหกิจลงทุนได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 112,177 ล้านบาท หรือคิดเป็น 108% ของแผนการเบิกจ่าย ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 – พ.ค. 2566) 34 แห่ง จำนวน 70,617 ล้านบาท หรือคิดเป็น 104% ของแผนการเบิกจ่าย และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (เดือน ม.ค. 2566 – เดือน พ.ค. 2566) 9 แห่ง จำนวน 41,560 ล้านบาท หรือคิดเป็น 116% ของแผนการเบิกจ่าย

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญยังสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ของการประปานครหลวง โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค