นายกฯ ชู 3 ประเด็น “ความยั่งยืน-เสริมสร้างพันธมิตร-ผลักดันศก.ดิจิทัล”
เวที AMCHAM’s Annual General Meeting หรืองานประชุมสามัญประจำปีของคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยในวันนี้ (25 ต.ค.66) นายกฯ เศรษฐา กล่าวถึงการส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจ และผลักดันความร่วมมือกับนานาประเทศไปแล้วบางส่วนในห้วงการประชุม UNGA ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา

โดยสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และยังเป็นอันดับ 3 ในด้านการลงทุน กว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเพิ่มตัวเลขเหล่านี้ให้มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า “ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และขณะนี้ถึงเวลาลงทุนในไทยแล้ว”
พร้อม ชู 3 ประเด็นสำคัญ “ความยั่งยืน-เสริมสร้างพันธมิตร-การเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่ครอบคลุมและเป็นโอกาสที่ดีต่อการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ
นายกฯ เร่งเครื่องติดสปีดเศรษฐกิจไทย ยกระดับความเป็นอยู่
นายกฯ มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ในระยะสั้น-กลาง-ยาว พร้อมแสดงศักยภาพด้านต่าง ๆ ของไทยเพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุน เช่น มาตรการทางด้านภาษี และการบริหารจัดการทรัพยากรอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า และน้ำ

ในระยะสั้น รัฐบาลได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เช่น ลดค่าไฟและค่าน้ำมัน ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสาย ในราคา 20 บาท และพักหนี้เกษตรกร
ในระยะกลาง-ยาว รัฐบาลมุ่งผลักดันการเซ็นสัญญา FTA และลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการสร้างโรงงานเพื่อส่งออกสินค้า
นายกฯ พร้อมชี้แจงทุกการดำเนินงาน ลดความเหลื่อมล้ำ
จากกรณีสงครามอิสราเอล-ฮามาส ตนรู้สึกสะเทือนใจมาก “เข้าใจคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อหาเงินเพราะลำบากและไม่มีทางเลือก จึงต้องเสี่ยงชีวิต” เป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลต้องทำงานหนัก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลปากท้องอย่างเหมาะสม และรวดเร็วให้กับคนที่มีความลำบากมาตลอด อย่างไรก็ดี เพื่อวามปลอดภัย ขอร้องให้คนไทยในอิสราเอลรีบกลับมา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ต้องการการแก้ไข เงินหนึ่งหมื่นบาทของ 1 ครอบครัวสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอาชีพได้ หากฟังอย่างมีเหตุมีผล ระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลต้องการกระตุ้นทั้งระยะกลาง และระยะยาว
และสำหรับภารกิจการเดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านมา พบว่า ทุกภาคธุรกิจในหลายประเทศที่ตนเองได้ไปประชุมหารือด้วยมองเห็นโอกาสในประเทศไทยอีกมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะนำจุดเด่นของประเทศไทยไปขาย “รัฐบาลพร้อมเดินไปข้างหน้า” ค้าขายในทุกมิติ ทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตร ลงทุน ชายแดน การท่องเที่ยว การยกเว้นวีซ่า การขยายระยะเวลาการประกอบกิจกรรมสถานบริการ
ครม. ไฟเขียว 1.7 พันล้าน จัดเอเชียนอินดอร์ และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์
ที่ประชุมครม. (24 ต.ค. 66) รับทราบการเลื่อนจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและจัดแข่งขันที่กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี จากเดิมวันที่ 17 – 26 พ.ย. 66 เลื่อนเป็นวันที่ 24 ก.พ. – 6 มี.ค. 67

พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินงบฯ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 วงเงิน 1,745 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พิจารณานำรายได้จากการบริหารสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินการจัดการแข่งขัน รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลการแข่งขันกีฬา สร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม โดยจากกรอบ 1,745 ล้านบาทที่เห็นชอบนั้น ขอให้ใช้จากงบ กกท. งบกองทุนพัฒนากีฬาไปก่อน หากไม่เพียงพอค่อยของบกลางเพิ่มเติม
รัฐบาลเดินหน้าแผนพัฒนา ทักษะทางการเงิน ปี 2565 – 2570
กระทรวงการคลัง ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้าน “การพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570” สำหรับเป็นกรอบนโยบายและกลไกการบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทย

โดยแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับ “การพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีความเปราะบางทางการเงินสูง ประกอบด้วย
– ผู้ประสบปัญหาภาวะหนี้รุนแรงและปัญหาความยากจน
– กลุ่มผู้พิการ
– กลุ่มประชาชนระดับฐานราก
– กลุ่มเยาวชน
– กลุ่มผู้สูงวัย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย:
- นโยบายสร้างรายได้ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรีภายในปี 70
- นโยบายสนับสนุน Soft Power และในกลุ่มของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย
- นโยบายลดรายจ่าย เช่น การพักหนี้เกษตรกร และการลดค่าพลังงาน
- นโยบายเสริมทักษะ เช่น
มาตรการทางเศรษฐกิจ “แบบเจาะจง” ตามความเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่ หรือกลุ่มประชาชนหรือที่เรียกว่า Tailor-Made Policy ที่อาศัยประโยชน์จากการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็คือ มีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างทั่วถึง