“เศรษฐา” แต่งชุดไทย นำ ครม. – “อุ๊งอิ๊ง” บางส่วนดูหนังสัปเหร่อ
เวลา 19.30 น. ที่โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนี เพล็กซ์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อม แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สัปเหร่อ” ซึ่งนายกฯเหมาโรงภาพยนต์รอบเวลา 19.45 น.

โดย นายกฯเศรษฐา สวมเสื้อผ้าไทย ผูกผ้าขาวม้า ขณะที่ อุ๊งอิ๊ง – แพทองธาร สวมเสื้อคลุมผ้าทอมือย้อมคราม จ.สกลนคร ส่วน ครม. สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม
ขณะที่รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล มีศุภมาส อิสระภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมชมภาพยนตร์ด้วย โดยบางส่วนพบว่าสวมผ้าไทยร่วมชมภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” และได้ร่วมถ่ายรูปกับผู้กำกับและนักแสดงในครั้งนี้ด้วย ซึ่งบรรยายเป็นไปอย่างเป็นกันเอง
สำหรับภาพยนตร์ไทย “สัปเหร่อ” เป็นหนังที่มีเนื้อเรื่องซ่อนซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในตัวละคร ผ่านวิถีชาวบ้านแบบอีสาน มีอัตลักษณ์เจาะลึกชัดเจนในเรื่องประเพณีงานศพ สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการหนังไทย สร้างรายได้ทั่วประเทศทะยานสู่ 500 ล้านบาท หลังเข้าฉายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 และยังคงได้รับกระแสตอบรับจากแฟน ๆ ภาพยนตร์ ตีตั๋วเข้าชมอย่างต่อเนื่อง
“พริษฐ์” เสียดายสภาฯคว่ำข้อเสนอประชามติแก้รธน.ทั้งฉบับ
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นด้วย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 ไม่เห็นด้วย 261 ต่อญัตติที่พริษฐ์ และพรรคก้าวไกลเสนอตามกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9 (4) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” นั้น

พริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ไม่สนับสนุนญัตติเรื่องการจัดประชามติและ “คำถาม” ประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เคยถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยและได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลัก เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 หรือไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
ในเมื่อช่องทางผ่านรัฐสภาถูกปิดลง ช่องทางที่เหลือเกี่ยวกับการจัดประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงอำนาจในการกำหนดคำถามประชามติ จะขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ผ่าน 2 ช่องทางหรือกลไกที่เหลืออยู่ของ พ.ร.บ.ประชามติ นั่นคือ ครม. มีมติด้วยตนเอง (มาตรา 9(2)) และครม. อนุมัติจัดประชามติตามข้อเสนอของประชาชนที่รวบรวมรายชื่อ (มาตรา 9(5))
“สมศักดิ์” ตรวจเยี่ยม ป.ป.ท. มอบนโยบายแก้ปัญหาทุจริตภาครัฐ
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย กิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง วิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยมีภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เอกชัย เกษมสุขธวัช ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.ทุกภาค และผู้บริหาร ป.ป.ท. เข้าร่วมประชุมถึงแนวทางการขับเคลื่อนงาน

ภูมิวิศาล กล่าวรายงานว่า ป.ป.ท.มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ซึ่ง ป.ป.ท.ได้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 15 ปี แต่เวลานี้ยังพบปัญหาจำนวนมาก ทั้งเรื่องสถานที่ทำงาน ที่ยังต้องเช่ามาตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งป.ป.ท.มีบุคลากรทั่วประเทศ เพียง 579 คน จึงอยากขอเพิ่มอีก 200 อัตรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยในประเด็นนี้ต้องขอให้รองนายกรัฐมนตรี ช่วยพิจารณานำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป แต่ถึงแม้ ป.ป.ท.จะมีปัญหาในเรื่องกำลังคนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ ตามนโยบายของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเราก็ได้เดินหน้ามาโดยตลอด จนสามารถจับกุมเจ้าพนักงาน ที่มีการเรียกเก็บเงินต่อผู้ประกอบการได้จำนวนมาก
ที่ผ่านมา ป.ป.ท. ยังได้มีการพูดคุยกับภาคธุรกิจ และสภาหอการค้าฯกว่า 30 แห่ง เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาทุจริต หลังพบว่า มีข้าราชการบางกลุ่ม เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการ ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ รวมถึง ป.ป.ท.ได้มีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากนักธุรกิจต่างชาติด้วย เพราะเราตรวจสอบพบว่า นักธุรกิจต่างชาติ มักถูกเรียกรับผลประโยชน์ในการขออนุญาตต่างๆในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ ตนมองว่า ป.ป.ท. มีความจำเป็นที่ต้องทำกฎหมายเพิ่มเติม ในเรื่องของประพฤติมิชอบ เพื่อจะได้ช่วยทำการยับยั้งก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือ ปล่อยปะละเลย
“สมารถ” ฟันธงร้านค้าจำนวนมากหวั่นโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ
สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ คลิป TIK TOK jopstoploss jop-samart นำคลิปความเดือดร้อนของร้านค้าที่เข้าร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาลหลังเจอภาครัฐเรียกเงินคืน 100% จากการเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” โดยอ้างว่าร้านค้าทำผิดระเบียบของโครงการ ซึ่งในคลิปร้านค้าต่างๆ ยืนยันว่า หากโครงการยังใช้เงื่อนไขเดิมที่ไม่ชัดเจน จะไม่ขอเข้าร่วมโครงการ “เงินดิจิทัล” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำรอยโครงการในอดีตอีก

ล่าสุดปรากฎว่าล่าสุดคลิปดังกล่าว https://vt.tiktok.com/ZSNhUt8vs/ มียอดผู้ชมกดไลค์หลักแสนกว่าแล้ว ยังไม่นำรวมการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับโครงการ “เงินดิจิทัล” ของรัฐบาลโดยเกรงว่าผลประโยชน์จะไปตกกับร้านค้าขนาดใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อมากกว่า
ร้านค้าที่เดือดร้อนหลายร้อยร้าน ระบุชัดเจนว่า จะไม่เอาโครงการเงินดิจิทัล เพราะได้บทเรียนจากโครงการเราชนะ ที่ต้อง ขึ้นศาลปกครอง ในการยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากภาครัฐมีคำสั่งให้คืนเงินจากการขายของในโครงการ 100% ทั้งๆลูกค้าได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประชาชนจำเป็นต้องรู้เท่าทันนโยบายของแต่ละพรรค แต่ละรัฐบาลหากจะมีการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไปจริงก็สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบเงินดิจิทัล แต่เงินจำนวนมากเกือบ 6 แสนล้านบาทสามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศ หรือสร้างสาธารณูปโภคให้กับคนในประเทศได้มหาศาล อีกทั้งการแจกเงินในรูปแบบของเงินดิจิทัลนั้น ถือเป็นการเข้าข่ายจงใจเพื่อการฟอกเงินจากต่างประเทศ หรือไม่
“หมอวรงค์” ยื่นองค์กรอิสระจี้รัฐบังคับใช้กม.กับ “ทักษิณ”
นพ.วรงค์ เดชวิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และคณะ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ 2 แห่งคือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีหน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลยการบังคับใช้กฎหมายกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกับคนอื่น

นพ.วรงค์ กล่าวว่า การที่มาร้องผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้ก็เพราะกรณีทักษิณ ที่กลับมาประเทศไทยตั้งแต่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมา 60 กว่าวัน สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำลายนิติรัฐ นิติธรรมอย่างจงใจ จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะลอยตัว แต่ต้องลงมาจัดการการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะทันทีที่นายทักษิณ เดินมาถึงประเทศไทยก็เข้ารักษาโรงพยาบาลตำรวจอย่างเร่งด่วน ซึ่งตามระเบียบของราชทัณฑ์ ระบุว่า ผู้ถูกคุมขัง หรือนักโทษที่จะออกไปรักษาข้างนอกจะต้องผ่านกระบวนการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน แต่เราไม่เชื่อว่าคืนนั้น นักโทษชายท่านนี้ไม่ได้ไปรักษาที่ราชทัณฑ์ นี่เป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และจนถึงขณะนี้ รักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ 60 กว่าวัน
การกระทำของคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีการปิดบังการรักษาโดยอ้างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่สิ่งที่ต้องชี้แจงคือนักโทษชายท่านนี้ไม่ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเพราะพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เป็นการส่งตัวไปโดยไม่เป็นไปตามระเบียบเงื่อนไขราชทัณฑ์
โดยประเด็นที่ 3 เป็นจุดตายที่เป็นอันตรายต่อกฎหมายของประเทศคือ กฎระเบียบราชทัณฑ์กำหนดชัดเจนว่า ผู้ถูกคุมขังหรือนักโทษเมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกราชทัณฑ์ ไม่มีสิทธิ์ไปรักษาห้องพิเศษ แต่ปรากฏว่านักโทษชายท่านนี้ได้รับเอกสิทธิ์ อภิสิทธิ์พิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ ที่ไปอาศัยห้องพิเศษชั้น 14 ซึ่งเป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน ดังนั้นจึงต้องรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อเสนอมายังประธานผู้จัดการแผ่นดิน ตามมาตรา 22 (3) ที่ให้ผู้ตรวจฯ รวบรวมข้อเท็จจริง เสนอต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรีและนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 53 ของรัฐธรรมนูญ 2560