ในปี 2561 ประเทศไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน หรือคิดเป็น 82% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 49 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของจำนวนประชากร มีผู้เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ประมาณ 9 ล้านราย คิดเป็น 13% ของจำนวนประชากร หรือ 42% ของจำนวนครัวเรือนไทย โดยความเร็วของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน อยู่ที่ 51.60 เมกะบิตต่อวินาที
ขณะที่พฤติกรรมของคนไทยยังใช้เวลากับสื่อประเภทนี้อย่างมหาศาล โดย 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีการใช้งานทุกวัน โดยใช้เวลาเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ให้บริการ OTT หรือบริการรายการโทรทัศน์ วิดีโอ สตรีมมิ่งผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 2 รูปแบบ คือ เจ้าของคอนเทนต์ เช่น ช่อง 3 5 7 Mcot เวิร์คพอยท์ โมโน จีเอ็มเอ็ม เป็นต้น กับอีกประเภท คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ Youtube LineTV Netflix Disney+ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มหลังส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศ
บริษัท PwC ประเทศไทย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทย จะมีมูลค่า 6.5 แสนล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5%
โดยบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ OTT จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด สวนทางกับสื่อดั้งเดิมที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
รายงานของ PwC คาดการณ์ด้วยว่าบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top video: OTT video) จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภควีดิทัศน์ตามคำขอ (Video on demand) ที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้คึกคักและเห็นการแข่งขันที่รุนแรงในหมู่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เช่น Netflix, iflix และ HOOQ
พิสิฐ ทางธนกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงาน Entertainment & Media บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวไทยต้องการเสพสื่อและบันเทิงแบบส่วนบุคคลมากขึ้น ไม่แตกต่างไปจากผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
การใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้ความต้องการของการได้รับประสบการณ์ลูกค้าที่ดี ตรงกับรสนิยมและความชื่นชอบส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นชนชั้นกลาง ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“การเข้ามาของเครือข่าย 5G ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ประมูลได้ในไม่ช้านี้ จะทำให้การเชื่อมต่อและตอบสนองทางออนไลน์รวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการสื่อและบันเทิง ยิ่งต้องเร่งเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่วันนี้ หันมาเลือกเสพสื่อในรูปแบบที่ตัวเองต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเสพสื่อไหน อย่างไร หรือเมื่อไหร่” พิสิฐกล่าว
ปี 2561 มูลค่าการใช้จ่ายบริการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตในไทย มีมูลค่า 2,810 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6,080 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 16.64%
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบดั้งเดิมและโฮมวิดีโอ ที่จะเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพียง 4.76% (จาก 1.97 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เป็น 2.49 หมื่นล้านบาทในปี 2566)
ขณะที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต (Internet advertising) ของไทยเป็นตลาดที่เห็นการเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากความชื่นชอบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวไทย
โดยคาดว่า จะมีมูลค่าการใช้จ่ายในตลาดนี้สูงถึง 3.25 หมื่นล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 13.62% สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่คาดการณ์ว่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% ของงบโฆษณามูลค่าแสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
พัชรี เพิ่มวงษ์อัศวะ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปีนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งมีการโยกเงินจากทีวีช่องหลักมายังสื่อใหม่ เช่น กลุ่มขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์นม ที่เจาะกลุ่มวัยทีน โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการรับชมรายการผ่าน OTT เป็นหลัก ทั้ง LineTV Youtube หรือสื่อใหม่อย่าง TikTok
ปัจจุบัน การใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล เฟซบุ๊คยังเป็นอันดับ 1 มูลค่า 5,762 ล้านบาท อันดับ 2 คือ YouTube 4,120 ล้านบาท อันดับ 3 คือ Creative มูลค่า 2,108 ล้านบาท
Creative ในที่นี้ คือการสร้างสรรค์งานในรูปแบบวิดีโอ ซึ่งเดิมเป็นงานที่ออนแอร์ผ่านสื่อโทรทัศน์ แต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นวิดีโอ สตรีมมิ่งที่สามารถออกอากาศได้ในหลากหลายรูปแบบสื่อ เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงขยับจากอันดับ 4 ในปี 2561 มาอยู่ในอันดับ 3 ปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในแง่การกำกับดูแลจากภาครัฐ บริการ OTT ถือเป็นความท้าทายที่จะต้องเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วน โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษารูปแบบการกำกับดูแลกิจการ OTT ของประเทศต่างๆ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก ตามพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้นั่งรับชมผ่านจอทีวีอีกต่อไป
“การขยายตัวของบริการ OTT วันนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้กำกับดูแลทั่วโลก เพราะมีประเด็นเชิงนโยบายมากมายตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บภาษีของรัฐ ไปจนถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เช่นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลและการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย การจัดให้มีอภิปรายและการร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ให้บริการ OTT และผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว” นายฐากรกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร