บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เตรียมสร้างโรงงานผลิตกรีนดีเซลที่ จ.ระยอง คาดสามารถเริ่มผลิตได้ช่วงต้นปี 63 หวังช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันต่างประเทศ มั่นใจไตรมาส 3 โรงไฟฟ้าพลังงานลมยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เชื่อว่าจะทำให้มีกระแสเงินสดไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาทในปี 62
นางสาวออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ผลประกอบการ ในช่วงไตรมาส 2/62 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 1,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 3,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เป็นผลมาจากโครงการหนุมาน โรงไฟฟ้าพลังงานลม มีการสร้างเสร็จครบ 260 เมกะวัตต์ ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 2 ทำได้ดีที่สุดของบริษัทฯ
คาดว่าช่วงไตรมาส 3 โครงการหนุมาน จะช่วยสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นอีก เนื่องจากเป็นฤดูฝนตกและจะมีลมแรงเป็นประจำ ซึ่งส่งผลดีกับโรงไฟฟ้าพลังงานลม นอกจากนี้ยังส่งผลดีกับกระแสเงินสดที่เข้ามาสูงกว่าทุกปี โดยปีนี้คาดว่าจะมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาสูงกว่า 7 พันล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และลม ซึ่งมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 664 เมกะวัตต์ ครบตามที่ชี้แจงก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนธุรกิจไบโอดีเซล ยังเป็นปัญหาเนื่องจากเกิดภาวะปาล์มล้นตลาด เป็นผลมาจากอียู ไม่เห็นด้วยที่จะใช้น้ำมันปาล์มเนื่องจากมีการโค่นป่าปูกปาล์ม และไขมันจากปาล์มเป็นอันตรายต่อสุขภาพในการนำไปประกอบอาหารบางชนิด ทำให้อียูมีการชะลอรับซื้อ แต่ครึ่งแรกของปี 62 บริษัทฯยังขายไบโอดีเซลได้ 100 ล้านลิตร ถือเป็นปริมาณที่ดีกว่าปี 61 แต่ราคาขายตกลงเฉลี่ย 19% ซึ่งยังต้องรอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯกำลังสร้างโรงงานผลิตกรีนดีเซลที่ จ.ระยอง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้ และจะสามารถผลิตได้ในช่วงต้นปี 63 ซึ่งกรีนดีเซลมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำมันดีเซลที่กลั่นจากฟอสซิล และสามารถเร่งกำลังเครื่องยนต์เดินได้ไม่สะดุด และยังทำให้เครื่องยนต์สะอาด แต่ราคาอาจสูงขึ้นมาเนื่องจากเป็นสินค้าพรีเมียม โดยเชื่อว่าการผลิตกรีนดีเซลยังสามารถช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ มุ่งเน้นการทำธุรกิจพลังงานยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวสถานีชาร์ตไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ล่าสุดบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ 4 พันธมิตรอย่าง CALTEX, CPALL ROBINSON และ COCKPIT ในการร่วมกันติดตั้งหัวชาร์ตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ทำให้ปัจจุบันสามารถขยายการติดตั้งสถานีชาร์ตไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าไปได้กว่า 46 จังหวัด หรือคิดเป็นจำนวนหัวชาร์ต 787 หัว
นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าที่ใช้งบลงทุน 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกเดินเรือจริงได้ในช่วงต้นปี 63 โดยเรือของบริษัทฯสามารถจุผู้โดยสารได้ 250 คน ซึ่งอาจมีการนำเรือให้บริการท่องเทียวเช่าเหมาลำ โดยจากงบการลงทุน 1 พันล้านบาท จะทำให้บริษัทฯมีเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าทั้งสิ้น 42 ลำ