EEC ระยะที่ 1 เม็ดเงินลงทุนทะลุเป้ากว่า 2 ล้านล้านบาท
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ได้ผลักดันแผนพัฒนา EEC เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำและเมืองที่น่าอยู่ของเอเชีย ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ล่าสุดคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผย ผลการดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561- 2565) ที่ผ่านมา ได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ พบว่าสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็น โครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก มูลค่าลงทุน 661,012 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ที่ 1,250,305 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีซี มูลค่า 70,271 ล้านบาท
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับแผนภาพรวมแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ. 2566- 2570วางเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลักได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ เน้นเกี่ยวกับการลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่สนใจด้วยการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร(one stop service) เสมือนเป็นช่องทางด่วนให้กับนักลงทุนในการขอใบอนุญาตประกอบการ
5 หน่วยงานรัฐวางมาตรการสกัดมิจฉาชีพ สินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทั้งด้านป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนสกัดเส้นทางการเงินทุกทางอย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดกับประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ในฐานะหน่วยงานกลางเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นนี้ ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ตช. กรมสรรพกร กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าได้มีการหารือและเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพใช้ช่องทางการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันโดยตรง (Peer-to-Peer) ภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่การประกอบธุรกิจและเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามแนวชายแดน ก็เป็นช่องทางในการโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดออกไปยังต่างประเทศ และยังใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินของผู้กระทำผิดกฎหมายด้วย
ครม. ปลื้มผลอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก ดีขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2565 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน

โดยมีผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม ดีขึ้นในทุกด้าน ดังนี้
(1) ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลำดับที่ 16 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปี 2565 จากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น หลังจากการชะลอตัวในช่วงโควิด-19 และการฟื้นตัวภาคการส่งออก ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5
(2) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ลำดับที่ 24 ปรับดีขึ้นจากลำดับ 31 ในปี 2565 จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง
(3) ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ลำดับที่ 23 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 30 ในปี 2565 จากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่ เนื่องจากความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ
(4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลำดับที่ 43 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 44 ในปี 2565 จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา มีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา
ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค 2566
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างปฏิญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอซิงตัน สหรัฐอเมริกา
ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี พ.ศ.2573 ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา พ.ศ.2583 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา 2.การดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 3.การดำเนินงานที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ประจำปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยงนวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร 4. การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี 5.ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร และ 6.ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
ศาลยกฟ้อง กรณี BTSC ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม.
ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งต่อมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และ รฟม. กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน

โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม นั้น ในวันนี้ (25 กรกฎาคม 2566) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว
โดยศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้ว มีความเห็นโดยสรุป ดังนี้ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ดุลพินิจในการจัดทำประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แต่อย่างใด อีกทั้งการที่ BTSC ผู้ฟ้องคดี มีหนังสือขอขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงรับฟังได้ว่า BTSC เข้าใจหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นอย่างดี และสามารถจัดหาเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้ เอกชนที่สามารถเข้าร่วมตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวจึงไม่ได้มีเพียงรายเดียวดังที่มีการกล่าวอ้าง
อีกทั้ง การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ประกอบกับขั้นตอนการจัดทำรายงานผลการศึกษา และการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามกฎหมายร่วมลงทุนและประกาศที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้น การจัดทำประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามรูปแบบ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่มีลักษณะประการใดที่จะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ศาลพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)